ต้องยอมรับเลยจริงๆ ว่าแม้เรื่องราวเกี่ยวกับอวัยวะเพศหญิงจะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเอามากๆ ด้วยข้อจำกัดทางจริยธรรมหลายอย่าง ในทางวิทยาศาสตร์เราจึงมีงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มากเท่าที่ควร
แต่ปัญหาเช่นนี้ ก็อาจจะหมดไปในเร็วๆ นี้แล้วก็ได้ เพราะเมื่อล่าสุดนี้เอง ทีมวิศวกรชีวภาพจากฮาร์วาร์ดก็เพิ่งจะประสบความสำเร็จในการสร้าง “อวัยวะเพศหญิงบนชิป” เพื่อการทดลองและศึกษาจุลชีพที่อาจส่งผลกับคนเลย
เจ้าอวัยวะเพศหญิงบนชิปที่ว่านี้เป็นผลงานต่อยอดมาจากเทคโนโลยีชิปอวัยวะอื่นๆ อย่างการจำลองปอด ตับ และลำไส้ของมนุษย์ โดยมันเกิดจากการเพาะเซลล์ในช่องคลอดที่ได้รับบริจาคมาจากผู้หญิงสองคน
และทำมันไปเลี้ยงไว้ในยางซิลิโคนขนาดเท่าแท่งหมากฝรั่งซึ่งมีช่องทางตอบสนองต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและแบคทีเรียที่ผันผวน ภายใต้ลักษณะคล้ายอวัยวะเพศหญิงจริงๆ อีกที
นั่นทำให้ชิปดังกล่าวในเบื้องต้นประสบความสำเร็จในการเลียนแบบคุณลักษณะที่สำคัญของจุลชีพในช่องคลอดได้เป็นอย่างดี ทั้งกับแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ และแบคทีเรียที่อาจเป็นอันตราย
และแน่นอนว่าการทดลองเช่นนี้ก็จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในช่องคลอด หรือแม้แต่ทดสอบการรักษาสำหรับภาวะแบคทีเรียในช่องคลอด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้หญิมากถึงราวๆ 30% ได้เลย
เรียกได้ว่าแม้นี่จะเป็นการทดลองที่อาจฟังดูแปลกแต่มันก็จะมีผลดีอย่างมากต่อการดูแลสุขภาพของมนุษย์ราวๆ ครึ่งหนึ่งของโลกในอนาคต ได้เป็นอย่างดีเลยนั่นเอง
ที่มา
microbiomejournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s40168-022-01400-1
www.nytimes.com/2022/12/08/science/vagina-chip-bacterial-vaginosis.html
futurism.com/neoscope/scientists-vagina-chip