เมื่อพูดถึงเหตุผลที่ “ไดโนเสาร์”สูญพันธุ์ไป หลายคนก็คงจะนึกถึงทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างอย่าง “อุกกาบาตขนาดใหญ่ชนโลก” เมื่อ 66 ล้านปีก่อน เป็นอย่างแรกๆ
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าอุกกาบาตลูกเดียวมันทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปทั่วโลกเลยได้อย่างไร? จริงๆ แล้วที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปมีเหตุผลอื่นหรือไม่? วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจนี้กัน
อ้างอิงจากงานวิจัยของประเทศอังกฤษซึ่งศึกษาความถี่ของการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ในยุคต่างๆ พวกเขาพบว่าจริงๆ แล้วประชากรของไดโนเสาร์นั้น มันเริ่มลดลงตั้งแต่ก่อนเหตุอุกกาบาตเกือบๆ 24 ล้านปี
ซึ่งเหตุผลหลักๆ ของการลดลงนี้ก็ดูจะมาจากการที่ไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สาเหตุเดียวกับที่สัตว์หลายๆ ชนิดสูญพันธุ์ไปจากโลกนั่นเอง
ปัญหาการปรับตัวนี้กลายเป็นอะไรที่เห็นได้ชัดมากขึ้นในตอนที่อุกกาบาตพุ่งชนโลก เพราะแม้แรงระเบิดอย่างเดียว จะไม่แรงพอที่ไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์ไปเลยก็ตาม
แต่เขม่าควันจากเหตุการณ์ก็ทำให้แสงอาทิตย์ส่องลงมาถึงผิวโลกได้น้อยลง เกิดเป็นปรากฏการณ์โดมิโน่ อาหารหาได้ยากขึ้น สร้างปัญหาให้แก่สัตว์ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้พลังงานในการดำรงชีวิตสูงแบบไดโนเสาร์อย่างมาก
พอไม่มีแสงเพียงพอพืชบางชนิดก็ไม่สามารถเติบโตได้ ไดโนเสาร์กินพืชที่อาหารไม่พอก็ค่อย ๆ ตายลง พอไดโนเสาร์กินพืชมีจำนวนน้อยลง ไดโนเสาร์กินเนื้อก็ลดน้อยลงตามไปด้วย
เมื่อเวลาผ่านไปไดโนเสาร์ “ส่วนใหญ่” จึงค่อยๆ สูญพันธุ์ไปจากโลก หรือวิวัฒนาการไปจนกลายเป็นสัตว์คนละสายพันธุ์ไปเลย จนไม่สามารถเรียกว่าไดโนเสาร์ได้อีกต่อไป
ดังนั้นจะบอกว่าแล้ว “อุกกาบาต” เป็นเพียง “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก
และการไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทันยุคต่างหาก ที่เป็นเหตุผลหลักๆ ซึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปจริงๆ
ที่มา
edition.cnn.com/2021/06/30/world/dinosaur-extinction-debate-scn/index.html
arstechnica.com/science/2016/04/dinosaurs-werent-wiped-out-by-that-meteorite-after-all/
www.history.com/topics/pre-history/why-did-the-dinosaurs-die-out-1