ผ่านไปใหม่มาก็ตั้งนานแล้ว แต่พอดูปฏิทิน เอ้า ยังเดือนมกราฯ อยู่เหรอเนี่ย? ทำไมถึงรู้สึกว่านานจัง…
นี่ไม่ใช่การคิดไปเองนะ เพราะในอดีตมีงานวิจัยและบทความหลายชิ้นเลยที่ยืนยันว่ามนุษย์มักจะคิดว่าเดือนมกราคมมันยาวกว่าเดือนอื่น ๆ และมันก็อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ด้วย!?
ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะเดือนมกราคม มักจะเป็นเดือนที่มนุษย์เราหลั่งสารโดปามีนออกมาค่อนข้างน้อย
ซึ่งเจ้าสารตัวนี้ ไม่เพียงแต่จะถูกเรียกว่าเป็น “สารแห่งความสุข” เท่านั้น แต่มันยังช่วยให้กระบวนการทำงานของสมองและ ร่างกายเป็นไปอย่างราบรื่น ลดความคิดด้านลบออก และทำให้เราสดชื่น กระฉับกระเฉงขึ้นด้วย
ดังนั้น การขาดสารนี้จึงทำให้นาฬิกาในสมองเราเดินช้าลงตามไปด้วย
ความต่างนี้ยิ่งเห็นชัดเข้าไปอีกในเดือนมกราคม เพราะ 2 เดือนก่อนหน้าอย่างเดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม นั้นถือว่าเป็นเดือนที่มนุษย์หลั่งสารโดปามีนออกมามากที่สุดจากวันหยุดและกิจกรรมสนุก ๆ
เท่านั้นยังไม่พอด้วยความรู้สึกว่าเดือนแห่งการทำงานเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ปียังเหลืออีก 11 เดือน ยังทำให้ช่วงเวลาในเดือนนี้ฟังดูน่าเบื่อและยิ่งดูนานขึ้นไปอีกต่างหาก
และนี่ยังไม่นับรวมปัจจัยอื่น ๆ อย่างภาระการงาน หรือสภาพอากาศ ของเดือน ที่ล้วนแต่จะนำมาซึ่งความเหนื่อยล้าอีกนะ
ดังนั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ ที่เดือนมกราคมดูยาวนานเหลือเกินนั้น มันมาจากปรากฏการณ์คล้ายกับที่ทำให้เรารู้สึกว่าตอนเบื่อเวลาจะดูผ่านไปช้า และตอนเราทำอะไรที่ตื่นเต้นหรือสนุกเวลาจะผ่านไปเร็วนั่นเอง
#เหมียวศรัทธา x #เหมียวหง่าว
ที่มา : https://www.newstatesman.com/science-tech/2024/01/scientific-reason-why-january-lasts-forever
https://www.newstatesman.com/science-tech/2024/01/scientific-reason-why-january-lasts-forever