ขึ้นชื่อว่า “หลุมดำ” หลายคนก็คงจะนึกถึงหนึ่งในวัตถุที่ลึกลับที่สุดในจักรวาล ซึ่งจนถึงปัจจุบันเราก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่าตกลงแล้วสิ่งที่หายเข้าไปในหลุมดำนั้น มันไปอยู่ที่ไหนกันแน่
ดังนั้นขอสันนิษฐานใหม่ของกลุ่มนักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยโซเฟียในบัลแกเรียจึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจเลย
เพราะพวกเขาบอกว่าจริงๆ แล้วหลุมดำนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า “เวิร์มโฮล”
ทางลัดตัดผ่านไปมาระหว่างพื้นที่และเวลา ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่ามันมีอยู่จริงไหมมานานแล้วก็ได้
แนวคิดที่ว่าหลุมดำเป็นเวิร์มโฮลนั้น เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ใช่แนวคิดใหม่อะไร
แต่ในงานวิจัยนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พัฒนาแบบจำลองคอมพิวเตอร์ จำลองลักษณะที่น่าจะเป็นของเวิร์มโฮลขึ้นมา เพื่อให้น้ำหนักกับทฤษฎีดังกล่าว
โดยพวกเขาพบว่าหากเวิร์มโฮลมีจริง รังสีที่เล็ดลอดออกมาจากจานของสสารที่หมุนรอบขอบมัน จะเหมือนกับแสงที่เราเห็นรอบๆ หลุมดำมาก มีความแตกต่างกันไม่ถึง 4% ด้วยซ้ำ
ดังนั้นพวกเขาจึงสันนิษฐานว่าหากเวิร์มโฮลมีอยู่จริง มนุษย์เราคงจะไม่สามารถแยกแยะมันออกจากหลุมดำได้
หรือหากมองในมุมมองกลับกัน มันมีความเป็นไปได้ที่จะมีเวิร์มโฮลปนอยู่กับ
หลุมดำที่เราเห็น หรือแม้แต่หลุมดำทั้งหมดเป็นเวิร์มโฮลเลยก็ได้
แน่นอนว่าตราบใดที่เรายังไม่มีเทคโนโลยีการสำรวจหลุมดำที่ดีกว่านี้ การจะยืนยันหรือหักล้างทฤษฎีดังกล่าวก็คงจะยังเป็นอะไรที่ทำได้ยาก
แต่หากว่าแนวคิดนี้เป็นจริง มันก็ไม่แน่เหมือนกันนะว่าฉากการเดินทางข้ามระยะทางไกลๆ หรือแม้แต่ข้ามกาลเวลา ผ่านทางหลุมดำ แบบที่เราเห็นในหนังอย่าง “Interstellar” ก็อาจจะไม่ใช่อะไรที่ไกลเกินความจริงอย่างที่เราคิดก็ได้
ที่มา
journals.aps.org/prd/abstract/10.1103/PhysRevD.106.104024
www.newscientist.com/article/2346618-how-to-tell-the-difference-between-a-regular-black-hole-and-a-wormhole/
futurism.com/objects-black-holes-wormholes