กสศ. – ยูเนสโก จับมือกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาโลก (EEA) เร่งแก้ปัญหาการศึกษา ห่วงโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนหลุดจากระบบ สูญเสียภาวะการเรียนรู้
โดยในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2022 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน” มีการเปิดเผยข้อมูลจากยูเนสโกที่น่ากังวลว่า นักเรียนทั่วเอเชียประมาณ 6.7 ล้านคน ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา เสี่ยงถูกบีบให้ออกจากโรงเรียนกลางคัน
ทุกประเทศทั่วโลกจึงควรเร่งเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอน หลักสูตรการศึกษาต้องปรับโดยมุ่งเน้นทักษะพื้นฐานทางสังคมและอารมณ์ และทักษะทางดิจิทัล ซึ่งสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 และต้องบ่มเพาะทักษะชีวิต เช่น ความคิดสร้างสรรค์ และการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพตามความถนัดของตัวเอง
เช่นเดียวกันกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มองว่าการเร่งฟื้นฟูเด็กและเยาวชนให้กลับสู่ภาวะปกติ จนสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
ด้วยแนวทาง All for Education ซึ่งจะช่วยให้แต่ละประเทศเกิดแผนฟื้นฟูและพัฒนาเด็กได้ตรงจุด เกิดการลงทุนเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน และเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดภาวะ ‘Lost Generation’
ผู้แทนจาก 10 องค์กร 12 ประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งที่ 5 หรือ เครือข่าย กสศ. โลก ยังเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ด้านการศึกษาในปัจจุบันเข้าขั้นภาวะวิกฤต
การมีแผนเพื่อฟื้นฟูการเรียนการสอนเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน และยังควรสนับสนุนการศึกษาในวัยผู้ใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ด้านผู้อำนวยการยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุว่าจากข้อมูล เด็กอายุ 10 ปีจากประเทศยากจนและรายได้ปานกลาง ไม่สามารถอ่านหนังสือหรือเข้าใจเรื่องราวง่ายๆ ได้ เพิ่มขึ้นจาก 53% เป็น 70% ซึ่งเป็นทักษะขั้นพื้นฐานจำเป็น
สถานการณ์นี้ยังบั่นทอนโอกาสที่เด็กคนหนึ่ง จะได้รับการพัฒนาจนเต็มศักยภาพ ทำให้ไม่มีทางเลือกและถูกบังคับให้ต้องจำยอมตกเป็นเบี้ยล่างและการเอารัดเอาเปรียบของสังคม เช่น เด็กผู้หญิงต้องถูกบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควร กลายเป็นคุณแม่วัยใสที่ยังไม่พร้อม หรือเด็กผู้ชายอาจกลายเป็นแรงงานเด็กราคาถูก
#ฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย #การศึกษา #กสศ