ในช่วงเวลาที่ “แบตเตอรี่ลิเธียม” ในปัจจุบันกำลังมีราคาแพงขึ้นจากที่เคยเป็นเช่นนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจากหลายๆ ที่ได้พยายามอย่างมากที่จะพัฒนาพัฒนาแบตเตอรี่รูปแบบใหม่ที่ราคาถูกกว่าเดิมเรื่อยมา
และล่าสุดนี้เอง เราก็มีข่าวความพยายามในการพัฒนาแบตเตอรี่แปลกๆ ออกมาให้เห็นกันอีกครั้งแล้ว โดยในครั้งนี้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ก็เพิ่งจะออกมาเปิดเผยเลยว่า
พวกเขาได้ค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ที่เราจะสร้างแบตเตอรี่ที่ย่อยสลายได้ในทางชีวภาพ โดยอาศัยสารที่พบใน “เปลือกปู” และ “เปลือกกุ้ง” เลย
อ้างอิงจากงานวิจัยปูและกุ้งก้ามกรามมีเปลือกที่เราสามารถสกัดเอาสารชื่อไคโตซานออกมาได้ และเมื่อนักวิทยาศาสตร์ลองเอาสารตัวนี้ไปผสมกับสังกะสีดู พวกเขาก็พบว่ามันจะกลายเป็นสารอิเล็กโทรไลต์ใหม่
ซึ่งไม่เพียงแต่จะใช้ทำแบตเตอรี่ที่มีระดับพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 99.7% ตลอดการทำงาน 400 ชั่วโมงเท่านั้น
แต่สารส่วนที่ได้มาจากปูยังสามารถย่อยสลายได้เองในเวลาราวๆ 5 เดือน เหลือไว้เพียงสังกะสีที่เราสามารถทำไปรีไซเคิลได้ด้วย
แต่แม้ผลงานจะออกมาน่าสนใจ ทีมวิจัยก็ยอมรับว่าผลงานของพวกเขายังอาจจะต้องมีการพัฒนาอีกมากกว่าที่จะใช้งานได้จริง (เช่นการปรับขนาดให้เหมาะกับการใช้งานหรือการผลิต)
แต่หากทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีพวกเขาก็หวังเช่นกันว่าในอนาคตพวกเขาจะสามารถสร้างแบตเตอรี่ที่ย่อยสลายได้แบบสมบูรณ์ 100% ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมา
ส่วนสำหรับคนที่สงสัยว่าสิ่งประดิษฐ์แบบนี้มันจะไม่ทำให้เกิดการล่าปูหรือกุ้งเกินขนาดเหรอ?
ในแหล่งข้อมูลก็มีการระบุไว้ด้วยว่าจริงๆ แล้วเราสามารถสกัดไคโตซานจากเชื้อราหรือหมึกบางชนิดได้ด้วย ทำให้การหาสารชนิดนี้จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ลำบากอะไรนัก
ที่มา
www.cell.com/matter/fulltext/S2590-2385(22)00414-3
gizmodo.com/batteries-made-from-crabs-chitosan-1849490333
www.theguardian.com/science/2022/sep/01/crab-lobster-shells-could-used-make-renewable-batteries