เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง กสศ. ค้นพบห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 แก้ปัญหาพัฒนาการในเด็กประถมต้น ชวนผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน สังเกต 14 สัญญาณเตือน “กล้ามเนื้อบกพร่อง” หากได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง จะมีพัฒนาการดีขึ้นภายใน 14 วัน
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่า จากการศึกษาของ กสศ. ใน 1 ภาคเรียนที่ผ่านมา พบภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับเด็กทั่วประเทศ
ภาวะที่ว่าก็คือ เด็กชั้นอนุบาล 3 ในยุคโควิด-19 ขาดความพร้อมที่จะเข้าเรียนในชั้นประถมต้น ซึ่งทำให้เด็กประถมต้นในทุกวันนี้ มีพัฒนาการเท่ากับเด็กชั้นอนุบาล
ช่วงชั้นประถมต้น คือ พื้นฐานสําคัญของการเรียน การอ่าน การคิดเลข ถ้าเริ่มต้นไม่ดี เรียนไม่รู้เรื่องตั้งแต่เล็ก พื้นฐานที่ไม่แข็งแรง ส่งผลให้มีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาได้
ตลอดภาคเรียนที่ผ่านมา กสศ. โดยโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จึงได้วิจัยเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูและสรุปออกมาเป็น 14 สัญญาณเตือนภาวะ “กล้ามเนื้อบกพร่อง” ในเด็กประถมต้น และแนวทางฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้ใน 14 วัน
การฟื้นฟูฐานกายและการเรียนรู้ จะเห็นผลแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เด็กมั่นใจในการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวแบบต่างๆ มีการทรงตัวที่มั่นคง จนเด็กรู้สึกไว้วางใจในศักยภาพของร่างกายตนเอง
ซึ่งผลจากการฟื้นฟูพบว่า เด็กมีความสุขกับการเรียน ร่าเริง มั่นใจขึ้น สื่อสารดีขึ้น มีสมาธิจดจ่อในการฟังมากขึ้น ทานอาหารมากขึ้น เริ่มเล่นกับเพื่อน จดจำได้เร็วและนานขึ้น ไม่ขาดเรียน กำกับตัวเองได้ดีขึ้น
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความพร้อมในการเรียนรู้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ที่คุ้มค่ามากๆ
ศึกษากิจกรรมห้องเรียนฟื้นฟู และดาวน์โหลด E-book ได้ที่ : https://creativeschools.eef.or.th/article-201022/
#ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19
#TSQP
#โรงเรียนพัฒนาตนเอง
#กสศ