เอาล่ะ เรื่องด่วนเลยล่ะครับ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “วัตถุกัมมันตรังสี” หายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง
ที่ตอนนี้มีข่าวว่าพบเจอแล้ว และตอนนี้ได้ถูก “หลอม” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ดูเหมือนว่าหลายคนอาจจะยังไม่ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่ามันคืออะไร? และเป็นมายังไงกันแน่?
ทีมงานแคทดั๊มบ์ก็เลยจะมาสรุปไทม์ไลน์ให้เพื่อน ๆ ทุกคนได้อ่านกัน เพื่อที่จะได้รับทราบสถานการณ์ทั้งหมด รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีที่ชื่อว่า ซีเซียม-137 ว่ามันคืออะไร? และอันตรายแค่ไหน?
– ไทม์ไลน์เหตุการณ์แบบคร่าว ๆ
1. ท่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี ทางโรงงานทราบว่าหายไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 โดยทางโรงไฟฟ้าไม่ทราบว่าหายไปได้อย่างไร? และหายไปจริง ๆ เมื่อไหร่กันแน่
2. ทางบริษัทเข้าไปแจ้งความในวันที่ 10 มีนาคม 2566 ว่าซีเซียม-137 หายไป พร้อมกับตั้งรางวัล 50,000 บาท สำหรับคนที่แจ้งข้อมูล
3. วันที่ 14 มีนาคม 2566 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ออกมาแถลงครั้งแรก ว่ามีวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายไป
4. วันที่ 16 มีนาคม 2566 มีการประกาศเพิ่มเงินรางวัลอีก 100,000 บาท ให้คนที่แจ้งเบาะแสเจอ รวมแล้วเป็น 150,000 บาท
5. วันที่ 19 มีนาคม 2566 มีข่าวการพบ ซีเซียม-137 ที่สูญหายแล้ว ก่อนที่จะมีการยืนยันจากทางสำนักงานประชาสัมพันธ์ของจังปราจีนบุรีว่าเป็นความจริง
6. วันนี้ (20 มีนาคม 2566) ผู้ว่าฯ และหน่วยงาน ปส. แถลงว่าพบเจอซีเซียม-137 ที่โรงงานอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะ ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี
7. ท่านผู้ว่าฯ ไม่ปฏิเสธว่าวัตถุดังกล่าวถูกหลอมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยืนยันว่าได้ทำการตรวจวัดปริมาณรังสีในพื้นที่รอบโรงงาน รวมไปถึงคนงาน ว่าไม่มีการปนเปื้อนแต่อย่างใด
8. มีข้อมูลว่าสารซีเซียม-137 ที่ตรวจพบมาจาก “ฝุ่นแดง” ที่เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิลที่รับซื้อมา และมีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ปนอยู่ในนั้นด้วย
9. แต่ทางโรงงานยืนยันว่ากระบวนการหลอมนั้นทำในระบบปิด และมีการกรองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม
10. ส่วนฝุ่นแดงที่มีการปนเปื้อนก็มีการจัดเก็บและควบคุมเอาไว้ในระบบปิดทั้งหมด ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนวางใจและอย่าตื่นตระหนก
– ซีเซียม-137 คืออะไร? อันตรายไหม? และมีวิธีการป้องกันไม่ให้ปนเปื้อนอย่างไร?
ซีเซียม-137 ไอโซโทป กัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชันที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน
ส่วนใหญ่จะเอามาใช้ในอุปกรณ์วัดความชื้น เครื่องวัดอัตราการไหล หรืออุปกรณ์ตรวจวัดชนิดอื่นที่ใช้หลักการทำงานคล้าย ๆ กัน
ลักษณะของสารซีเซียม จะมีความคล้ายกับเม็ดเกลือสีขาว สามารถละลายน้ำได้ สามารถฟุ้งกระจายได้ และที่สำคัญคือสารตัวนี้จะไม่มีกลิ่น ไม่มีสี
หากบังเอิญไปสัมผัสเข้าเบื้องต้นจะไม่มีอาการ แต่หากผ่านไป 3 วัน จุดที่สัมผัสโดนจะเริ่มเปื่อยเน่า และภูมิต้านทานในร่างกายจะค่อย ๆ ลดลงและหายไป เนื่องจากรังสีเข้าไปทำลายแอนติบอดี
หากรับซีเซียมเข้าไปในร่างกาย ซีเซียมจะกระจายไปทั่ว และจะมีความเข้มข้นสูงที่กล้ามเนื้อและกระดูก
จากการทดลองในสุนัข เมื่อได้รับซีเซียมในครั้งเดียวจำนวน 44 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม สุนัขตัวนั้นจะเสียชีวิตภายใน 3 สัปดาห์
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า หากสงสัยว่าสัมผัสการปนเปื้อนรังสี ให้ลดการปนเปื้อนโดย ปัดออก เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือล้างออกด้วยน้ำ โดยการอาบน้ำ
ที่สำคัญคือเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนให้เก็บใส่ถุงปิดปากให้มิดชิด เพื่อนำไปตรวจสอบต่อไปว่าปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่ และรอปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรียบเรียงโดย #เหมียวหง่าว