เอาล่ะ จากประเด็นเรื่องจอดรถขวางทางเข้าหน้าบ้าน แล้วบอกว่า “เป็นที่สาธารณะจอดได้” ก็เลยทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า “มันทำได้จริงเหรอ?”
ด้วยเหตุนี้ทีมงานของแคทดั๊มบ์ก็เลยได้ทำการ “ศึกษา” เกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าว จนได้ผลออกมาว่าดังนี้ครับ…
– กฎหมายว่าด้วยการจอดรถ ห้ามจอดรถบริเวณไหนบ้าง?
ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 55 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ” ตามสถานที่ต่อไปนี้…
1. ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง
2. บนทางเท้า
3. บนสะพานหรือในอุโมงค์
4. ในทางร่วมทางแยก
5. ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ
6. ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
7. ในเขตปลอดภัย
8. ในลักษณะกีดขวางการจราจร
– ถนนหน้าบ้าน เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร?
จริงอยู่ว่าถนนหน้าบ้านนั้นถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะ เจ้าของบ้านไม่ใช่เจ้าของที่มีกรรมสิทธิ์ แต่เป็นพื้นที่ที่ติดกับตัวบ้าน เพราะฉะนั้นเจ้าของบ้านจะมีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ได้ก่อน (แต่ประโยชน์นั้นจะต้องไม่ผิดกฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น)
แต่คนอื่นก็สามารถมาใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่ต้องให้สิทธิ์เจ้าของใช้ประโยชน์ก่อนเมื่อเจ้าของบ้านต้องการ
ทว่ามันจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจเล็กน้อยหากตรงนั้นเป็น “ทางเข้า-ออก” บ้าน เพราะจะถือเป็นสิทธิ์ที่ได้เพิ่มเติมคือ ช่องประตูที่ขออนุญาตไว้เรียบร้อยแล้วว่าเป็นทางเข้าออก จะถูกระบุไว้ว่าเป็นทางสัญจร ซึ่งถือเป็นทางสัญจรสำหรับเจ้าของบ้านคนเดียว (ก็คือเจ้าของบ้านใช้เข้าออกได้คนเดียว คนอื่นจะมาจอดรถขวาง หรือจะมาใช้ประตูนี้ไม่ได้)
– สรุปแล้วจอดรถหน้าบ้านคนอื่นได้ไหม?
สรุปก็คือหากดูกันตามกฎหมายจราจรทางบก มาตรา 55 แล้ว ก็จะพบว่าไม่สามารถจอดได้ แม้กระทั่งหน้าบ้านของตัวเองก็ไม่ได้ครับถือว่าผิดกฎหมาย
ซึ่งความผิดดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
แต่หากไปจอดขวางหน้าบ้านคนอื่น ยิ่งหนักเลย เพราะอาจมีความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคหนึ่ง อันนี้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
และถ้าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในที่สาธารณสถาน หรือต่อหน้าธารกำนัล ก็จะมีโทษเพิ่มอีก ตามมาตรา 397 วรรค สอง คือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ได้รับความเสียหาย (เจ้าของบ้านที่โดนจอดขวาง) มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตน หรือของบุคคลภายนอกจากอันตรายที่มีความฉุกเฉิน ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐไม่ได้
สามารถเคลื่อนย้ายรถได้ด้วยตัวเอง แม้จะเป็นการกระทำให้รถบุบสลายหรือเสียหาย ก็ทำได้โดยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย หากความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ เพราะเป็นข้อยกเว้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 450
สรุปก็คือ การจอดรถขวางทางเข้า-ออก หรือขวางหน้าบ้านคนอื่น แม้จะอ้างว่าจอดบน “ถนนสาธารณะ” แต่หากทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิต ก็ถือว่าเป็นความผิดและมีโทษสูงสุดทั้งจำทั้งปรับนั่นเองครับ
เรียบเรียงโดย #เหมียวหง่าว
ที่มา : https://www.dharmniti.co.th/park-front-house/
https://www.moj.go.th/view/71911