จากประเด็นดราม่าในแวดวงของคนทำเกม เกิดอะไรขึ้นบ้าง? เดี๋ยวจะมาเล่าให้อ่านกันครับ
เรื่องของเรื่องก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เปิดเผยร่าง พรบ. ภาพยนตร์และเกมฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดยประชาชนสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างนี้ได้
ซึ่งพอรับฟังความเห็นเสร็จแล้ว ก็จะดำเนินการผลักดันให้เอามาใช้แทน พรบ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ฉบับเดิมของปี 2551 เพื่อให้ครอบคลุมทั้งภาพยนตร์ และวิดีโอเกมที่สร้างขึ้นในประเทศไทย
ทีนี้ เนื้อหาใน พรบ. มันมีจุดที่น่าสนใจอยู่ครับ จนกลายเป็นดราม่าขึ้นมา เราก็เลยสรุปมาแบบเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้…
1. พรบ. เกมคืออะไร?
– เป็นร่าง พรบ. ภาพยนตร์และเกม ฉบับใหม่ ที่จะถูกนำมาใช้งานแทน พรบ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ฉบับเดิมของปี 2551 ให้ครอบคลุมทั้งภาพยนตร์ และวิดีโอเกม ที่จะถูกสร้างขึ้นในประเทศไทย
2. สาระสำคัญที่เป็นประเด็น
– มาตรา 15 ระบุว่า การส่งภาพยนตร์ หรือเกม ที่สร้างขึ้นในไทย ไปขายต่างประเทศ จะต้องได้รับการจัดเรตติ้ง จากคณะกรรมการจัดระดับความเหมาะสมก่อน
– มาตรา 24 ระบุว่า การลงสื่อโฆษณาภาพยนตร์ หรือเกม ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดระดับความเหมาะสมก่อนด้วย
– หากไม่ทำตาม หรือฝ่าฝืน ในมาตรา 35 ระบุว่า มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 5 ล้านบาท
3. อยู่ในขั้นตอนไหน? ออกมาเป็นกฎหมายแล้วหรือยัง?
– ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนสอบถามความเห็นจากประชาชนจนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2566
4. คนว่ายังไงกับเรื่องนี้?
– คนในวงการเกมต่างก็ไม่พอใจ เพราะมองว่ามันคือการเพิ่มอำนาจควบคุมจนเกินเหตุ แทนที่จะส่งเสริม กลับกลายเป็นไปขัดขวางให้ทำยากกว่าเดิม
– เนื้อหาในกฎหมายมีความคลุมเครือ แล้วมาตรฐานที่ใช้ในการจัดเรตติ้งจะเอาอะไรมาวัด? เหมือนดราม่าจัดเรตหนังหรือเปล่า? ยังไม่เข็ดกันอีกเหรอ?
5. ข้อเสนอแนะของชาวเน็ต
– ให้ Free Market ไปเลย ให้ผู้บริโภคจัดการตัวเองดีกว่า เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเกมภายในประเทศ และถ้าได้รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน (ไม่ใช่ขัดขวางนะ) ก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก
สามารถเข้าไปอ่านร่าง พรบ. และให้ความเห็นกันได้ที่นี่ : www.law.go.th
เรียบเรียงโดย #เหมียวหง่าว
ภาพโดย #เหมียวจอลลี่