เรื่องของการ ยืน-ไม่ยืน ในโรงหนังกลับมาอีกแล้ว หลังจากที่คุณ นันทวัน เมฆใหญ่ นักแสดง นักร้องเพลงลูกกรุง รุ่นใหญ่ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ไม่มีใครยืนขึ้นเลย มีแค่เธอคนเดียวที่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี
จากเวลาที่ผ่านไป ยิ่งมีกระแสยืนในโรงหนังน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ แล้วการยืนเคารพในโรงหนัง เป็นข้อบังคับหรือไม่ #เหมียวเลเซอร์ จะค่อยๆ อธิบายให้ได้เห็นภาพกัน
– กฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น มีให้เห็นในพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับปี 2485 มาตรา 6 ให้ทุกคนต้องเคารพตามระเบียบ เครื่องแบบ หรือประเพณี (3) ระบุข้อกำหนดให้เคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีไว้ชัดเจน
ในปีถัดมา ก็มีการกำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจนว่า ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ปี 2550 มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งในโรงหนัง จากการที่มีคนไม่ยอมลุกขึ้นยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี แถมจะดำเนินคดีตามกฎหมาย และใช้มาตรา 112
แต่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ด้วยเหตุผลที่ว่า การไม่ยืนแสดงความเคารพไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
– ถัดมาอีกไม่กี่ปี มีการแก้กฎหมายให้ชัดเจนมากขึ้น โดยพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับปี 2553 กำหนดยกเลิกกฎหมายฉบับเก่า 5 ฉบับ ในมาตราที่ 3 ทำให้ พ.ร.บ.วัฒนธรรม ปี 2485 ถูกยกเลิกไป
จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างคนยืนกับไม่ยืนอยู่ ซึ่งทางโรงหนังส่วนใหญ่ก็พยายามออกแบบมาตรการเพื่อรองรับปัญหานี้
เคยมีคนถามไปถึงโรงหนังแล้วว่าจะจัดการอย่างไร คำตอบจะออกมาในแนว ไม่บังคับแต่ขอความร่วมมือให้ยืน หรือหากไม่ยืนก็ให้ออกมารอด้านนอกก่อน
ถ้ายังจำกันได้ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2562 มีหญิงสาวเล่าเหตุการณ์ที่เธอถูกเชิญออกจากโรงหนังเครือใหญ่ เพราะไม่ลุกยืนเคารพเพลงสรรเสริญ
พนักงานที่เชิญออกให้เหตุผลว่า เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน เป็นวัฒนธรรม แต่ทางบริษัทฯ มาชี้แจงทีหลังว่าไม่มีนโยบายเชิญลูกค้าออกจากโรงหนังแต่อย่างใด