ประเด็นของชุดนักเรียนถูกพูดถึงขึ้นมาอีกครั้งในโลกออนไลน์ตอนนี้ การมีอยู่ของเครื่องแบบเหล่านี้มันมาจากไหนกัน ที่ไหนเป็นที่แรกที่นำชุดนักเรียนมาใส่ #เหมียวเลเซอร์ นำมาให้อ่านกันแล้ว
– ที่แรกที่เริ่มใส่ชุดนักเรียน –
ค่อนข้างจะหาหลักฐานที่ฟันธงได้ค่อนข้างยาก แต่จากข้อมูลหลายแหล่งระบุว่าเริ่มต้นที่ โรงเรียน Christ’s Hospital School ประเทศอังกฤษ ช่วงศตวรรษที่ 16
ชุดนักเรียนจะเป็นรูปแบบเสื้อโค้ทยาวสีน้ำเงินและสีเหลือง ใส่ถุงเท้ายาวถึงเข่า ซึ่งที่อังกฤษก็ยังมีการใส่เครื่องแบบนักเรียนในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมจนถึงปัจจุบัน
– ชุดนักเรียนในสหรัฐอเมริกา –
หลายคนทราบดีว่าที่สหรัฐอเมริกา ไม่มีการใส่ชุดนักเรียนในโรงเรียนรัฐ แต่จะเป็นการใช้ Dress Code หรือข้อกำหนดเครื่องแต่งกายในโรงเรียน
ด้วยเหตุผลของเสรีภาพในการแสดงออกที่มีแนวคิดมาตั้งแต่ช่วงปี 70 และปี 80 แต่โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่จะมีเครื่องแบบให้นักเรียนใส่
เคยมีการเสนอแนวคิดให้นักเรียนใส่ชุดนักเรียนในปี 1996 สมัยประธานาธิบดี Bill Clinton
ต่อมาในปี 1998 มีโรงเรียนรัฐประมาณ 25% นำไปใช้หรือพิจารณาจะนำไปใช้ แต่ว่าแนวคิดนี้ก็ถูกยกเลิกไปเพราะไม่มีใครเอาด้วย
– ชุดนักเรียนในญี่ปุ่น –
ประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้เครื่องแบบนักเรียนมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 สำหรับโรงเรียนชั้นประถมจะไม่บังคับใส่เครื่องแบบ
แต่โรงเรียนที่บังคับ
นักเรียนชายจะต้องใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวและสวมหมวก นักเรียนหญิงจะต้องใส่เสื้อสีขาวและกระโปรงจีบสีเทา หรือชุดกะลาสี และใส่หมวกสีสว่างสดใสเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจราจร
ส่วนชุดนักเรียนชั้นมัธยม นักเรียนชายจะเป็นชุดเครื่องแบบที่มาจากทหาร นักเรียนหญิงจะใส่ชุดกะลาสี
ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากเครื่องแบบทหารยุคเมจิ ที่มีต้นแบบมาจากชุดนาวียุโรปอีกทีนึง ปัจจุบันก็ยังใช้ชุดรูปแบบนี้อยู่
– ชุดนักเรียนไทย –
เฟส 1 เริ่มแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2428
ชุดนักเรียนชายประกอบด้วย เสื้อราชปะแตนสีขาว (ราช + แพทเทิร์น) คอตั้ง กระดุมทอง 5 เม็ดด้านหน้า กางเกงขาสั้นสีดำ หรือกางเกงรูเซีย
มีหมวกฟาง พร้อมผ้าพันหมวกตามสีประจำโรงเรียนและอักษรย่อโรงเรียนที่หน้าหมวก
ชุดนักเรียนหญิงในช่วงนี้ ยังไม่มีการกำหนดรูปแบบที่ชัดเจน แต่ก็เริ่มการศึกษาสำหรับนักเรียนหญิงแล้ว
ในสมัยรัชกาลที่ 6 นักเรียนชายหัวเมืองจะใส่เสื้อราชปะแตนสีเทาแทนสีขาว เพราะรักษาความสะอาดง่ายกว่า
เฟส 2
ช่วงจัดตั้งยุวชนทหารและกำหนดให้นักเรียนชายตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.2 ในปัจจุบัน) ต้องเป็นยุวชนทหาร ชุดนักเรียนก็กลายมาเป็นชุดเครื่องแบบยุวชนทหาร
หมวกทรงหม้อตาลมีคำว่า “รักชาติยิ่งชีพ” เสื้อเชิ้ต กางเกงขาสั้น โทนสีกากีแกมเขียว ถุงเท้ากับรองเท้าสีดำ
เฟส 3
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียนทั้งชายและหญิง เพราะปัญหาขาดแคลนผ้า ลักษณะใกล้ยุคปัจจุบัน
– ชุดนักเรียนชาย หมวกกะโล่สีขาว เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว ปักอักษรย่อจังหวัด หมายเลขโรงเรียน สีน้ำเงิน กางเกงขาสั้นสีกากี เข็มขัดหนังสีน้ำตาล ถุงเท้าสีน้ำตาล รองเท้าสีน้ำตาล
– ชุดนักเรียนหญิง จากสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบ ก็ต้องใส่เป็น เสื้อสีขาวคอปักแขนสั้น ผ้าผูกคอแบบยาวแบบเนกไท ผ้าซิ่นหรือกระโปรงยาว หมวกกะโล่สีขาว ถุงเท้าสีขาว รองเท้าหนังสีดำ
เฟส 4 ยุคปัจจุบัน
สำหรับชุดนักเรียนไทยทั้งชายและหญิง ได้เดินทางมาถึงยุคสมัยที่เราได้เห็นกันในปัจจุบันแล้ว
มีรูปแบบตามกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 และมีระเบียบปฏิบัติของแต่ละโรงเรียนแยกย่อยออกไปอีกที