เรียกได้ว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่กำลังมีการถกเถียงและพูดคุยกันอยู่ในโลกออนไลน์ตอนนี้เลยเกี่ยวกับ “ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย” มันเกิดอะไรขึ้นเดี๋ยวจะเล่าให้อ่านครับ…
– ประเด็นนี้เริ่มต้นจากเพจ Fino the Ranad ที่เป็นนักดนตรีระนาด ได้ออกมาโพสต์ขับเคลื่อนในเชิงเรียกร้องให้ “หยุด! ผลิตซ้ำเนื้อหา และวาทกรรม ‘ผีดนตรีนาฏศิลป์ไทย’ (ในเชิงลบ/น่ากลัว)”
– โดยให้เหตุผลว่าตัวเจ้าของโพสต์ และผู้คนในแวดวงดนตรีไทย พยายามอย่างหนักที่จะให้คนหันมาสนใจดนตรี-นาฏศิลป์ไทย คือไม่ถึงขั้นให้ต้องมาเป็นนักดนตรีไทย หรือนางรำ แต่ขอแค่ให้คนหันมารับชมรับฟังก็เพียงพอแล้ว
– แต่แม้จะพยายามแค่ไหน ก็มักจะพ่ายแพ้ต่อทัศนคติในเชิงลบ จากความเชื่อที่ว่า “ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย มักจะมาคู่กับ ภูติผีวิญญาณ”
อ่านโพสต์ต้นทางได้ที่นี่ : https://www.facebook.com/finotheranad/posts/pfbid033M9NPQ1ydFoBsLZjbQNtSngC5bGrV3eZkbNpRuSG3A9YoMZqJBzVbhksHswckEDKl
– นอกจากนี้ยังเปิดเผยอีกว่า ตนเองคลุกคลีกับเครื่องดนตรีไทยมาโดยตลอด แต่ไม่เคยโดนผีหลอกอย่างที่คนเชื่อกันเลยสักครั้ง
– เลยออกมาเรียกร้องให้หยุดสร้างเนื้อหาผีดนตรีนาฏศิลป์ไทยในสื่อต่าง ๆ สักที เพื่อให้คนหันมาสนใจในศิลปะเหล่านี้มากยิ่งขึ้น โดยปราศจากความกลัว
– ไม่นานโพสต์นี้ก็เป็นไวรัลขึ้นมาครับ มีคนแชร์ไปแล้วกว่า 2,500 ครั้ง ทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นมาในหลายประเด็น เดี๋ยวจะขอยกมาไว้ให้อ่านเป็นบางส่วนนะครับ
– ในส่วนที่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเราก็อาจจะมียกตัวอย่างว่า ‘เออ ทำไมไม่มีผีเล่นกีตาร์โซโล่บ้าง? หรือไม่ก็มีผี K-Pop ออกมาเต้นบ้าง?’ อะไรประมาณนี้ครับ
– มีส่วนที่มีความเห็นกลาง ๆ ประมาณว่า “หากมองอีกมุม การสร้างนาฏศิลป์ไทยในหลายรูปแบบหลายมิติ น่าจะสร้างแรงดึงดูดให้คนทั่วไปหันมาสนใจศิลปะไทยได้มากขึ้น อาจจะไม่ถึงขั้นห้ามหรือหยุดนำเสนอในรูปแบบความน่ากลัว แต่เพิ่มมิติด้านความสวยงาม ความอลังการ เข้าไปในสังคมด้วย”
– ส่วนที่ไม่เห็นด้วย ก็บอกว่าเจ้าของโพสต์อาจจะมองปัญหาผิดประเด็นไป เช่น มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสื่อเอาไปนำเสนอเรื่องผีก็ได้ แต่เป็นคนในแวดวงดนตรีไทยเองนี่แหละที่ทำให้มันไม่น่าสนใจ มีพิธีรีตองเยอะ ข้อจำกัดเยอะ ทำให้คนเลือกที่จะไม่เสพ
ยกตัวอย่างความเห็นเช่น
“ถ้าถามว่าทำไมเครื่องดนตรีไทยเหมือนกำลังจะตายและได้รับความนิยมเท่าเครื่องดนตรีสากล ส่วนตัวผมว่ามันอยู่ที่ความยุ่งยากและเข้าถึงยาก เช่น ถ้าคุณอยากเล่นเครื่องดนตรีไทย วงการจะบอกให้คุณทำพิธีกรรมนู่นนี่ ทำตามธรรมเนียมนู่นนี่ ในขณะที่เครื่องดนตรีสากลคุณสามารถไปซื้อที่ร้านพร้อมหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อฝึกเล่นได้เลย (คนฝึกเองอาจจะไม่เก่งมาก แต่เพราะเขาเล่นเครื่องดนตรีนั้นๆทำให้เขาเข้าถึงดนตรีจากเครื่องนั้นๆได้มากขึ้นทำให้ยิ่งมีคนฝึกมากก็ยิ่งได้รับความนิยมมาก) แต่ก็นั่นแหละ เพราะยุ่งยากและเพราะความยุ่งยากธรรมเนียมเยอะทำให้คนทั่วไปเขานิยมเครื่องดนตรีสากลที่สามารถวางไว้ปลายเตียงเวลาตื่นมาจะได้เอาเท้าเขี่ยขึ้นมาเล่นได้มากกว่า”
“อย่าไปโทษศิลปะแขนงอื่นค่ะ เขาแค่ทำหน้าที่จดบันทึกในมุมที่เขาเห็น คิดว่าเขาได้เรฟจากไหนมาเขียนล่ะ ถ้าไม่ใช่พฤติกรรมของคนในวงการดนตรีไทยเอง ที่พยายามสร้างภาพพจน์ของดนตรีไทยให้เป็นแบบนั้น ต้นเหตุอยู่ที่คนในวงการตัวเองแท้ๆ สั่งสอนอะไรให้กันไว้ ยังไม่คิดจะแก้ไขเลย บางคนชอบที่มันน่ากลัวด้วยซ้ำ บางคนภูมิใจเหลือเกินกับความเข้าถึงยาก แตะต้องไม่ได้ ก็ไปตกลงกันเองให้ได้ก่อนค่ะ ว่าจะสร้างภาพพจน์แบบไหนให้ดนตรีไทย มันอยู่ที่พวกคุณเองทั้งนั้น”
“ต้องหยุดจากไหนอะ ใครต้องหยุด ในเมื่อจะหยิบจะจับอะไรก็มีผี มีครูไปหมด ต้องไหว้ ต้องกราบ หรือแม้กระทั่งครอบครู จะลองเล่น จะถือ จะจับจะแตะ เป็นอะไรที่เข้าถึงยากสุด ๆ จากผู้ดูแล ผู้สอน หรือแม้กระทั่งเอามาเล่นเพลงสมัยใหม่ยังโดนตำหนิเลยบางที ก็ในเมื่อมันศักดิ์สิทธิ์ขนาดนั้น แล้วมาอยู่รวมๆกันในห้อง ก็ไม่แปลกที่มันจะน่ากลัว แล้วเด็กจะกลัว”
ประเด็นทั้งหมดก็ประมาณนี้ฮะ เพื่อน ๆ ชาวแคทดั๊มบ์อ่านจบแล้วคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง? ลองคอมเมนต์มาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ
เรียบเรียงโดย #เหมียวหง่าว