ระวังตัวไว้ให้ดีสำหรับคนที่ชอบโพสต์บ่น-ด่าเจ้านายในเฟซบุ๊ก เพราะหากว่ากันตามกฎหมายแล้วอาจนำไปสู่การเลิกจ้างได้ แถมไม่ได้รับเงินชดเชยด้วยนะเออ!!
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ (สมมตินะครับสมมติเฉย ๆ) #เหมียวหง่าว โพสต์ที่หน้าวอลตัวเอง : “เซ็งว่ะ ปธ. เหมียวแม่ง สั่งงานก็เยอะ ให้เงินเดือนยังไม่พอซื้อขนมแมวเลียเลย มาออฟฟิศก็ไม่ทำไร วัน ๆ เอาแต่ชวนเล่นบอร์ดเกม ไม่ก็มายืนแอคหล่อโชว์พนักงานสาว”
เนื่องจากว่าโซเชียลมีเดีย หรือ สื่อออนไลน์ ถือเป็นสื่อสาธารณะ ข้อความที่เป็นการระบายความคับข้องใจตามข้างต้นนี้ อาจสร้างความเข้าใจว่านายจ้างเป็นผู้กลั่นแกล้ง เอาเปรียบลูกจ้าง และมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของนายจ้าง (ทำให้เสื่อมเสีย)
การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่าย “จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2)
และเป็นการกระทำอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583
นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้าง
เดี๋ยวจะหาว่าไม่จริง ลองไปดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8206/2560 ที่เป็นคดีดังเกี่ยวกับเรื่องเลิกจ้างเพราะลูกจ้างไปโพสต์บ่นเจ้านาย เกิดขึ้นเมื่อปี 2560
คดีนี้ลูกจ้างโพสลงเฟซบุ๊กว่า
“เมื่อไหร่จะได้ในสิ่งที่ควรได้ว๊ะ…ต้องกินต้องใช้ ไม่ได้แดกดินแดกลมนะ” และ
“ใครที่เกลียดเจ้านายเป็นบ้าเป็นหลัง โดนเจ้านายกลั่นแกล้ง หยุดซะเถอะความเกลียด ความโกรธ ปล่อยให้เขาเป็นอย่างนั้นไปคนเดียว”
“เพราะถ้ามีเจ้านายเฮงซวยจริง ๆ ก็ถือว่าเจ้านายของคุณมีทุกข์เยอะที่ชีวิตเขาต้องมาเจอลูกน้องเกลียดและเขาก็จะไม่มีความสุขในสิ่งที่เขาเป็น ยุ่งเหยิงยิ่งกว่าหมอย…ลูกค้าเกลียดวันที่ลูกค้าเต็ม…ตลอด 3 ปีมานี้เขาบอกว่าขาดทุนตลอด อยู่ได้ไงตั้ง 3 ปี…งง…ให้กำลังใจกันได้ดีมากขาดทุนทุกเดือน”
ข้อความข้างต้นนี้นำมาสู่การที่ลูกจ้างคนดังกล่าวถูกเลิกจ้าง
โดยศาลพิพากษาว่า
– เฟซบุ๊กเป็นสื่อออนไลน์สาธารณะที่ผู้ใช้งานใช้ในการติดต่อกับบุคคลอื่นและบุคคลอื่นสามารถเข้าถึงข้อความที่มีผู้เขียนลงบนเฟชบุ๊คได้ และมีบุคคลภายนอกเข้ามาเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความที่ลูกจ้างเขียนไว้บนเฟซบุ๊ก
– แม้ข้อความที่ลูกจ้างเขียนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการระบายความคับแค้นข้องใจ แต่ก็ทำให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจว่านายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้าง นายจ้างเป็นนายจ้างที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เอาเปรียบลูกจ้าง และนายจ้างกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน
– ทั้งลูกจ้างทำงานกับนายจ้างมาเป็นเวลานานย่อมทราบดีว่าการเขียนข้อความดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการบริหารของนายจ้าง ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของลูกค้า
– การกระทำของลูกจ้างจึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2)
และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
เพราะฉะนั้นใครที่ชอบบ่นเรื่องเจ้านายลงเฟซบุ๊ก ก็ให้ระวังตัวไว้ เพราะหากตัวเจ้านายเองหรือใครก็ตามที่จ้องจะเล่นคุณอยู่ แคปไปให้เจ้านายดู ก็อาจจะมีสิทธิ์เกมไปตามระเบียบ
เรียบเรียงโดย #เหมียวหง่าว