สรุปดราม่า จุฬาใช้รถกอล์ฟอัญเชิญพระเกี้ยว ในงานบอล ทำ Baby Boomer บางส่วนเดือด
เรื่องราวนี้เป็นมาอย่างไร เราขอสรุปมาให้ติดตามกันครับ
– “พระเกี้ยว” คืออะไร? หากให้พูดแบบให้เข้าใจง่ายๆ ไม่ราชาศัพท์มากเกินไปคือ เป็นเครื่องประดับศีรษะโอรสหรือธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในหลวง ร.6 ได้พระราชทานให้
– ก่อนหน้านี้ในการเดินขบวนงานบอล จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ทาง จุฬาฯ จะมีการอัญเชิญพระเกี้ยว ด้วยการคัดหานักศึกษาหญิง 1 คนที่มีคุณสมบัติพร้อมมาเป็นตัวแทน โดยมีนักศึกษาชายแบกเสลี่ยง มีระบุว่าประเพณีเริ่มมาตั้งแต่ปี 2507
– กระทั่งในปี 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้มีมติ 29:0 เสียง ยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว เพราะเห็นว่าเป็นธรรมเนียมที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม และพบว่ามีการบังคับนิสิตให้มาแบกเสลี่ยง โดยใช้คะแนนหอพักเป็นข้ออ้าง
– ซึ่งตอนนั้นก็มีกระแสดราม่าพอสมควร โดยมีศิษย์เก่าและคนภายนอกบางส่วนมองว่าไม่ควรยกเลิก ขณะที่นักศึกษาปัจจุบันส่วนใหญ่มองว่ามันล้าสมัยแล้ว
– ล่าสุดงานบอล จุฬา-ธรรมศาสตร์ ปีนี้เมื่อ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้อัญเชิญพระเกี้ยวด้วยการวางไว้บนหลังคารถกอล์ฟ EV
– เป็นเหตุให้เกิดดราม่าขึ้นมาอีก มีคนบางกลุ่มได้ออกมาวิจารณ์จุฬาฯ บางคนก็เป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ บางคนก็ไม่ใช่ ส่วนใหญ่เป็นคนเจน Baby Boomer
– ผศ. ดร. อานนท์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศิษย์เก่า ม.ฟอร์ดแฮม สหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ว่า ” อัญเชิญพระเกี้ยวบนหลังคารถกอล์ฟ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ถ้าเช่นนั้นก็ถวายพระนามจุฬาลงกรณ์คืนให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสียเถิด แล้วก็ถวายตราพระเกี้ยวคืนให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไปเสียเถิด พระราชทานให้แล้ว นิสิตจุฬาฯ หาได้ภาคภูมิและหาได้ถวายพระเกียรติให้สมกับที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณไม่ น่าอนาถใจ น่าเสียใจยิ่งนัก ”
– พ.อ.รศ.นพ. วิภู กำเหนิดดี ศิษย์เก่าวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ได้โพสต์ว่า “สวัสดีครับ น้องๆ แพทย์ใช้ทุนที่จบจากที่นี่ ผมเตือนด้วยความหวังดีว่าอย่ามาสมัครเรียนกับผมนะครับ ไม่ชอบ โชคดีครับ”
– พลตรี หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ศิษย์เก่า Western Pacific University โพสต์ว่า “ผมไม่ใช่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้มีรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ได้เรียนและจบที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อได้เห็นแล้วก็อดหดหู่หัวใจแทนนิสิตจุฬาฯ รุ่นพี่ รุ่นปู่ รุ่นย่า รุ่นตา รุ่นยาย ที่ได้เห็นภาพเช่นนี้ พวกท่านๆ จะรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ
ผลงานดังกล่าว คือการเทิดทูนพระเกียรติพระเกี้ยว โดยการตั้งวางไว้บนหลังคารถกอล์ฟ แทนที่จะมีขบวนแห่อย่างสมพระเกียรติแบบที่ผ่านๆ มา หรือนี่มันแค่เป็นการหลู่เกียรติพระเกี้ยวกันแน่
หากผู้จัดงานครั้งนี้ไม่เต็มใจที่จะเทิดทูนพระเกียรติพระเกี้ยว ก็ไม่ต้องอัญเชิญพระเกี้ยวออกมาตั้งบนหลังคารถอล์ฟ อวดไปทั่วประเทศ ให้เป็นที่อุจาดตา ใคร่ขอบอกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่รู้จริงว่าพระเกี้ยวคือของสูง เป็นศิราภรณ์ที่ประดับบนพระเกศาของพระมหากษัตริย์ และตราสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเครื่องประดับบนพระเกศาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ พระราชทานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำมาเป็นสัญลักษณ์ เพื่อที่จะรำลึกถึง พระองค์เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้
เมื่อภาพออกมาเป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพ ไม่รักไม่เคารพก็อย่าลบหลู่เกียรติ
เนื่องจากพระเกี้ยวเป็นเครื่องสูง การอัญเชิญจึงต้องใช้เสลี่ยง ไม่ใช่อัญเชิญบนหลังคารถกอล์ฟ
นิสิตจุฬาลุงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกคนต้องมีความภาคภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพ
ไม่รัก ไม่เคารพก็อย่าลบหลู่เกียรติ ในสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
หากไม่รัก ไม่ภูมิใจ ก็ถวายคืน หรือถ้าไม่ถวายคืนก็เอาตราเกี้ยวใส่ตู้กระจก ตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์จะดีกว่า”
– นันทิวัฒน์ สามารถ ศิษย์เก่าจุฬาฯ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เป็นกลอนว่า “นิสิตจุฬาเห็นภาพนี้แล้วรู้สึกอย่างไร นี่มันคือการเทิดพระเกียรติพระเกี้ยว หรือนี่มันคือหลู่เกียรติพระเกี้ยว หากไม่เต็มใจที่จะเทิดพระเกียรติ ก็ไม่ต้องอัญเชิญพระเกี้ยวออกมา
พระเกี้ยวคือของสูง เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา เป็นเครื่องประดับของพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นสัญญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทาน เนื่องจากพระเกี้ยวเป็นเครื่องสูง การอัญเชิญจึงต้องใช้เสลี่ยง
ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพ ไม่รักไม่เคารพก็อย่าหลู่เกียรติ นิสิตจุฬาทุกคนต้องมีความภาคภูมิใจ
ในสัญญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย หากไม่รักไม่ภูมิใจ อย่าอยู่เลย”
– ขณะที่ ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ได้โพสต์เห็นแย้งว่า “ถ้าเราให้นิสิตแบกพระเกี้ยว เราก็จะต้องเกณฑ์แรงงานกันทุกปี ถ้าเราเอาศิษย์เก่าและผู้หลักผู้ใหญ่ที่รับไม่ได้มาแบกพระเกี้ยว เราจะมีแรงงานพอแบกจากเบตงไปแม่สอดกลับมาสักห้ารอบก็คงจะได้”
– ส่วนนักศึกษาจุฬาฯ ปัจจุบันส่วนใหญ่ก็มองว่าอากาศร้อน 39 องศาแบบนี้ การใช้รถกอล์ฟก็เหมาะสมเพราะทำให้ไม่เสี่ยงต่อสุขภาพของคนเดินขบวน
– เพื่อนๆ คิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ก็มาแลกเปลี่ยนกันได้เลยครับ