กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอ สบค. ยกเลิกการใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ พบให้ผลลวง ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ช่วยป้องกันโควิด
เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย. 65) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์โรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข (MIU) เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการ MIU กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานผลการศึกษาเครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermoscan)
โดยพบว่ามีประสิทธิผลในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ต่ำ มีค่าความไวต่ำตั้งแต่ 0-39% ทำให้ค่าพยากรณ์ผลทั้งบวกและลบต่ำมาก ให้ผลบวกและลบปลอม
ส่วนการใช้ที่สนามบินหรือสถานที่ต่าง ๆ ยังไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนถึงประโยชน์ในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
ทั้งนี้มีข้อเสนอจากคณะกรรมการ MIU กระทรวงสาธารณสุขว่า ในปัจจุบันและหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องวัดอุณหภูมิในการคัดกรองผู้ป่วย ตามสถานที่ต่างๆ
ซึ่งในต่างประเทศก็มีคำแนะนำคล้ายกัน เช่น ที่อังกฤษมีคำแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองผู้ป่วยโควิด, สิงคโปร์ยกเลิกการคัดกรองอุณหภูมิในที่สาธารณะตั้งแต่สิงหาคม 2564 หรืออย่างที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ปัจจุบันไม่มีคำแนะนำเรื่องการวัดอุณหภูมิสำหรับการคัดกรอง
ส่วนเครื่องวัดอุณหภูมิแบบสแกนร่างกายในสนามบินนั้น ก็ไม่มีหลักฐานด้านประสิทธิผลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน และยังต้องพัฒนานวัตกรรมที่มีประสิทธิผลในการคัดกรองโรคติดเชื้อที่ดีกว่านี้ในอนาคต สำหรับกลุ่มนักเดินทาง
ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวจะนำเสนอทาง สบค. เพื่อพิจารณาต่อไป แต่ยังคงเน้นย้ำมาตรการอื่นๆ เช่น การฉีดวัคซีนกระตุ้น การสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยง การล้างมือ เว้นระยะห่าง
เรียบเรียงโดย #เหมียวเวจจี้
ที่มา pr.moph