เชื่อว่าในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงอย่างนี้ ส่งผลให้คนเดือดร้อนและออกมาตั้งคำถามถึงแนวทางการลดราคาน้ำมันมากขึ้น
แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกระแสในสังคมก็คือเรื่องของ “ค่าการกลั่น” ที่ถูกโจมตีว่าเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้น้ำมันขายปลีกราคาแพง
แต่สิ่งที่ได้ยินมาว่า “ลดค่าการกลั่น” หรือ “เอากำไรโรงกลั่นเข้ารัฐ” จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างที่บางคนบอกไว้ แท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดกันก็เป็นได้
เอาเป็นว่าในคอนเทนต์นี้ เดี๋ยวแคทดั๊มบ์มาสรุปข้อมูลคร่าวๆ ของเรื่องธุรกิจโรงกลั่น และค่าการกลั่นให้เข้าใจง่ายๆ กันครับ..
พูดถึงเรื่องของ “โรงกลั่น” กันก่อน
ถามว่าในไทยมีโรงกลั่นเยอะไหม อ้างอิงจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในไทยมี 6 บริษัทหลัก กลั่นน้ำมันรวมกันประมาณ 1.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ละบริษัทมีสัดส่วนดังนี้
1. ไทยออยล์ 293,000 บาร์เรล/วัน
2. ไออาร์พีซี 196,000 บาร์เรล/วัน
3. พีทีที โกลบอล เคมิคอล 174,000 บาร์เรล/วัน
4. สตาร์ปิโตรเลียม 148,000 บาร์เรล/วัน
5. เอสโซ่ 132,000 บาร์เรล/วัน
6. บางจาก 121,000 บาร์เรล/วัน
พูดง่ายๆ ว่าธุรกิจโรงกลั่นในไทย ก็คือบริษัทเอกชนทั้งหลายทำธุรกิจขึ้นมาเพื่อกลั่นน้ำมันนี่แหละ ถ้าเราไล่ดูชื่อก็พอจะคุ้นหู เพราะหลายรายก็มีบริษัทในเครือทำธุรกิจปั๊มน้ำมันด้วย
เมื่อโรงกลั่นอยากจะกลั่นน้ำมัน ก็จะต้องไปจ่ายเงินซื้อน้ำมันดิบมา ซึ่งปกติจะเป็นน้ำมันในประเทศที่ผลิตได้ไม่เกิน 20% และส่วนที่เหลือมากกว่า 80% คือต้องนำเข้ามา
จากนั้นก็เอามากลั่นตามขั้นตอน ซึ่งก็จะได้ผลิตภัณฑ์หลายอย่างออกมาเหมือนที่เราเคยเรียนกัน
เช่น น้ำมันเตา ยางมะตอย น้ำมันดีเซล น้ำมันดีเซล ไปจนถึงแก๊สหุงต้ม
ผลผลิตต่างๆ เหล่านี้ พอได้มาแล้วก็จะถูกแยกไปขาย บางชนิดขายได้แพงกว่าน้ำมันดิบ หรือบางชนิด ก็ขายได้ถูกกว่าต้นทุนของน้ำมันดิบด้วย
เพราะฉะนั้นเพื่อให้ได้ราคากลางๆ ออกมา ก็ต้องเอาของที่ขายได้ทุกอย่างมาเฉลี่ยกัน
สรุปง่ายๆ ค่าการกลั่น ก็คือเอาราคาเฉลี่ยของ “ทุกผลิตภัณฑ์” ที่กลั่นได้ มาลบกับต้นทุนน้ำมันดิบ ที่รวมค่าประกัน ค่าขนส่ง ค่านู่นนี่นั่นเข้าไปแล้ว
เหลือเท่าไรก็จะเป็น “ค่าการกลั่น” ที่เราคุ้นหูกัน
(ซึ่งจุดนี้ไม่ใช่ว่าเอาราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหรือเบนซิน มาลบกับราคาน้ำมันดิบ แล้วจะเป็นกำไรโรงกลั่นอย่างที่เข้าใจผิดกันนะ)
และความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในช่วงเวลาต่างๆ ไม่เท่ากัน พอช่วงไหนคนใช้เยอะ ความต้องการสูง ขายง่าย ค่าการกลั่นก็ปรับตัวสูง
หรือช่วงไหนที่คนไม่ใช้เลย ค่าการกลั่นก็ลดลงตาม หรือบางที่ก็ “ติดลบ” ได้ด้วย อย่างเช่นช่วงโควิด คนไม่ค่อยเดินทาง กลั่นมาขายต่ำกว่าต้นทุน ก็แบกรับการขาดทุนไป
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเกิดคำถามอีกว่า ถ้างั้นช่วงไหนค่าการกลั่นสูง ก็ลดลงไปไหม จะได้กำไรน้อยๆ คืนทุนให้ประชาชน
อีกจุดที่หลายคนเข้าใจผิดก็คือ “ค่าการกลั่น” จะไม่ใช่ “กำไรโรงกลั่น”
ซึ่งก็เหมือนธุรกิจอื่นๆ ที่มีทั้งค่าก่อสร้าง ค่าเสื่อมราคา ค่าจ้างคน ค่าบำรุงรักษา ดอกเบี้ย ภาษี หรือค่าใช้จ่ายจิปาถะนู่นนั่นนี่
เพราะฉะนั้นธุรกิจแบบโรงกลั่น ก็จะต้องเอาค่าการกลั่น ที่ไม่ค่อยแน่นอนอยู่แล้ว มาหักกับต้นทุนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ต้นทุนนั้นจะคงที่
ถ้าหักลบกันแล้วเป็นบวก ก็คือโรงกลั่นจะได้กำไรไป แต่ถ้าเป็นลบ ก็เท่ากับปีนั้นๆ โรงกลั่นเจ้านั้นก็จะขาดทุนนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น บรรดาธุรกิจโรงกลั่นเจ้าใหญ่ๆ ที่ยกมาข้างต้น จะขาดทุนในปี 2562 และปี 2563 ยิ่งขาดทุนหนัก
จากนั้นก็เริ่มฟื้นตัวกลับมามีกำไรในปี 2564 และ 2565 ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติทั่วไปในธุรกิจที่เป็นวัฏจักรอย่าง “น้ำมัน”
ที่จะมีทั้งช่วงเวลา “ขาดทุน” และ “กำไร” สลับกันไปด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะเพ่งเล็งไปที่ประเด็นเดียวอย่าง “ค่าการกลั่น” หรือพุ่งเป้าไปยังบริษัทเอกชน ว่าคือส่วนสำคัญหลักที่ทำให้ค่าน้ำมันแพงในทุกวันนี้
มันอาจจะเป็นการดีกว่า ถ้าเราพุ่งเป้าไปยังประเด็นที่สำคัญจริงๆ โดยเฉพาะการจัดการของทางภาครัฐ ที่จะต้องดำเนินนโยบายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น…
– การหาเงินเข้ารัฐ มาอุดหนุนน้ำมันมากยิ่งขึ้น เพื่อตรึงค่าครองชีพ
– การปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน ที่อาจจะมาไล่ดูอีกทีว่าสามารถทำให้ดีขึ้นได้ไหม
– การทำให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งหลังสุดนี้อาจจะฟังดูยาก แต่ก็.. นะ ถ้าเศรษฐกิจดีจนคนมีรายได้สูงกว่านี้สัก 2 เท่า ราคาน้ำมันในปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่ปัญหาหนักอย่างทุกวันนี้ก็เป็นได้
ซึ่งตัวอย่างต่างๆ ที่ยกขึ้นมานี้ จะเป็นไปได้จริงๆ รึเปล่า เราก็คงต้องภาวนา และเฝ้าติดตามกันต่อไปครับ…