ชาวเน็ตทวีตบอกอยากให้มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา จุฬา-ราชภัฏ กลายเป็นประเด็นดราม่า #เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากชาวเน็ตรายหนึ่ง ได้ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 บอกว่าอยากให้มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างจุฬาฯ กับ ราชภัฏ เพื่อจะได้เข้าใจว่าคนที่เรียนราชภัฏก็มีคุณภาพเหมือนกัน
“อยากให้มีโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน เอาเด็กจุฬาไปเรียนราชภัฏเทอมนึง แล้วเอาเด็กราชภัฏมาเรียนจุฬาเทอมนึง ใช้ข้อสอบมหาวิทยาลัยนั้นๆ สอบ ตัดเกรดกันที่มหาวิทยาลัยตัวเองไปแลกเปลี่ยน
พวกคุณจะได้รู้ว่าเด็กราชภัฏไม่ได้โง่ เด็กราชภัฏก็มีคุณภาพ ไม่เชื่อลองทำดูสิ #เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน”
ข้อความดังกล่าวได้กลายเป็นกระแสพูดถึงอย่างมาก มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในประเด็น #เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ซึ่งก็มีหลากหลายความเห็น
“เรื่องเรียน หลักสูตร ทุกที่ดีเหมือนกันนะ แต่ถ้าพูดถึงในอนาคตหางานเขามองที่สถาบันก่อนจริงอันนี้มันก็เถียงไม่ได้”
“ถ้า #เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน แล้วจะอยากแลกเปลี่ยนไปทำไม ในเมื่อมั่นใจว่าม.และหลักสูตรที่ตัวเองเรียนมีคุณภาพเท่าที่อื่น
สาเหตุที่มี ranking ก็เพราะเอาไว้ย้ำเตือนไงว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ตรงไหน ต้องพัฒนาอะไรอีกบ้าง เพราะบางคนคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด/เท่าคนอื่นแล้ว ทั้งที่จริงอาจจะไม่ใช่”
“#เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่จริงหรอกค่ะ เพราะยังไงคนก็ยังให้ค่าสถาบันอยู่ แต่ขอแชร์เรื่องจริงว่าเราเคยเลือกน้องที่จบราชภัฏ แทนที่จะเลือกอีกคนที่จบเกียรตินิยมจุฬานะคะ
น้องคนนี้ทำงานกับเรามาสองปีแล้ว และทำงานดีมากๆ #สถาบันก็สำคัญแต่ทำงานดีสำคัญกว่า”
เดียร์ รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันฯ ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ด้วย
จากโพสต์ในเฟซบุ๊กของเธอได้พูดถึงความเห็นของชาวเน็ตบางส่วนที่มองว่า คนที่เรียนราชภัฏเทียบกับคนที่เรียนจุฬาฯ ไม่ได้
ในโพสต์ เดียร์ รวิสรา บอกว่าการเปรียบเทียบแบบนี้เป็นเรื่องที่ใจร้ายมาก ประเด็นของเรื่องนี้จริงๆ แล้วคือความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย
ข้อความจากโพสต์ของ เดียร์ รวิสรา เอกสกุล
นอกจากนี้ยังมีอีกความเห็นที่น่าสนใจจาก แขก คำ ผกา คอลัมนิสต์และพิธีกรชื่อดังที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ด้วย โดยเขียนไว้แบบนี้
“ดราม่าราชภัฏ vs จุฬาฯ
อยากจะบอกว่า ไม่ต้องอยากมาเรียนจุฬาฯหรอกค่ะ สมัยนี้คลิปเลคเชอร์อาจารย์ที่เก่งๆ ทุกๆวิขา หาฟังได้จากยูทูป!!!!
และอยากจะเสริมว่าไม่มียุคไหนที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยทุกมหาวิทยาลัยจะเสื่อมถอยไม่ฟังก์ชั้นต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกเท่ากับยุคนี้อีกแล้ว
ถ้าอยากได้คุณภาพการศึกษาจริงๆ อยากได้ ‘บรรยากาศแห่งการเรียนรู้’ ในโลกกว้างจริงๆ หาทุนไปเรียนต่างประเทศเถอะ ทุนสมัยนี้หาไม่ยากเท่าสมัยก่อน ไปสั้นๆ ก็ได้ไปเปิดหูเปิดตา ออกไปสู่โลกกว้างดีกว่าค่ะ
และในฐานะที่ทำงานในสำนักข่าวบอกเลยว่าสมัยนี้ไม่ได้วัดกันที่จบจากสถาบันไหน ไม่มีวุฒิปริญญาตรีก็รับขอให้ทำงานได้ทำงานเป็น”
เรียบเรียงโดย #เหมียวเวจจี้