หลังจากที่วันก่อนกระแสของงาน ‘เทศกาลลาบโลก’ กลายเป็นไวรัลขึ้นมา ล่าสุดวันนี้ สธ.ได้ออกมาเตือนและให้ข้อมูลถึงความเสี่ยงของการกินเนื้อดิบ
วันนี้ (4 ส.ค.2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีที่โลกโซเชียลมีเดียรีวิวการกินและวิธีการทำอาหารประเภทเนื้อวัว-ควายสด ๆ อาทิเช่น เนื้อวัวดิบ จิ้มแจ่ว ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อย ซอยห่าง แหนมดิบ (อาหารอีสาน) ลาบดิบ ส้า จิ้นส้ม (อาหารเหนือ) อ้างว่าเป็นมรดกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นวัฒนธรรมการกินอันยิ่งใหญ่ระดับโลก
อย่างไรก็ตามกรมควบคุมโรค ขอเตือนภัยโรค สำหรับคนที่คิดอยากลองหรือคนที่ชอบความหวานของการกินลาบวัว-ควายดิบ ข้อมูลเตือนภัยโรคพยาธิที่พบบ่อย โรคพยาธิตัวตืดวัว-ควาย เกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิเรียกว่า เม็ดสาคูในเนื้อ ตัวอ่อนเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ รูปร่างคล้ายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ยาว 5-10 เมตร อาจยาว 25 เมตร มี 1,000-2,000 ปล้อง ปล้องสุกจะหลุดออกมา 3-4 ปล้องกับอุจจาระ หรือคืบคลานออกจากทวารหนักในแต่ละวัน อายุอยู่ในลำไส้คน 10-25 ปี พยาธิจะแย่งอาหารในลำไส้ คนติดโรคจะมีอาการหิวบ่อย ปวดบริเวณลิ้นปี่ ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งท้องร่วง ท้องผูก น้ำหนักตัวลดลง ปล้องสุกที่หลุดออกมาอาจเข้าไปไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้
ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคซาร์โคซิสติส มีลักษณะคล้ายเม็ดข้าวสาร ในวัว-ควายมีอัตราการเป็นโรคสูงมาก สำหรับในคน มีรายงานโดยพบซีสต์ในกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อกล่องเสียง และกล้ามเนื้ออื่น ๆ ผู้ที่เป็นโรคนี้ส่วนมากมีอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย บวมใต้ผิวหนัง ข้ออักเสบ และเม็ดโลหิตขาวอีโอซิโนฟิลสูง
สำหรับเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ อาทิ
– โรคแอนแทรกซ์ เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร คือ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายท้องอย่างรุนแรง อาจพัฒนาไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด ก็ย่อมรุนแรงจนถึงแก่ความตายได้
– เชื้อซาลโมเนลลา เป็นแบคทีเรียที่มักมีการปนเปื้อนมากับอาหาร เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักจะมีอาการอาเจียน ท้องร่วง
– เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ในทางเดินอาหารของ วัว และสัตว์อื่น ๆ เชื้อนี้อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ บางครั้งอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย
– เชื้ออีโคไล เป็นเชื้อที่สร้างสารพิษทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไปประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว และมีอาการท้องร่วง บางครั้งอาจมีเลือดปน
– ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า หากนำเนื้อวัว-ควายที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุมากิน แล้วไปเจอวัวควายที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งคนแล่เนื้อ คนทำอาหาร ไปจนถึงคนกินดิบ ๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้ ซึ่งถ้าเป็นและมีอาการ ตายอย่างเดียวไม่มียารักษา
ทั้งนี้ ข้อแนะนำประชาชน ให้ใช้หลักมาตรฐานอาหารปลอดภัย ควรจะเลือกซื้อเนื้อวัว-ควายที่ผ่าน การตรวจจากโรงฆ่าสัตว์แล้วเท่านั้น รับประทานอาหารต้ม ปิ้งย่าง เนื้อสัตว์ให้สุกอย่างทั่วถึง โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สุกด้วยความร้อน หรือผ่านการทำลายตัวอ่อนพยาธิ เช่น ฉายรังสี หรือเก็บเนื้อไว้ในตู้เย็น -20 ˚c นานเกิน 12 ชั่วโมง สำหรับผู้ปรุงอาหาร ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
ที่มา :
– https://news.ch7.com/detail/586487
– https://www.facebook.com/thestandardth/photos/a.1725541161072102/3110178862608318/