ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่เบาครับ เกี่ยวกับ “หลักการสะกดคำในภาษาไทย” ที่เหมือนกำลังเป็นประเด็นใน TikTok อยู่ตอนนี้
มันเกิดอะไรขึ้น? เดี๋ยวเราจะมาอธิบายแบบเป็นภาพรวมให้เพื่อน ๆ ได้เข้าใจกันครับ…
1. เรื่องมันเป็นประเด็นขึ้นมาจากคลิปไวรัลคลิปหนึ่ง ประมาณว่าเอาเด็กที่เรียนหลายโรงเรียนมาสะกดคำพร้อม ๆ กัน ปรากฏว่ามีเด็กจากโรงเรียนหนึ่งสะกดคำไม่เหมือนเพื่อน
2. การสะกดคำ จากที่หลาย ๆ คนเรียนมา จะรู้กันดีว่า เราจะเอาพยัญชนะขึ้นก่อน แล้วค่อยประสมสระ และตัวสะกดตามมาลำดับ เช่น คำว่า ไป ก็จะสะกดเป็น ปอ + ไอ = ไป หรือ คำว่า เอก ก็จะสะกดเป็น ออ + เอ + กอ = เอก เป็นต้น
แต่ของโรงเรียนที่แตกต่าง จะสะกดตามคำที่เห็นเลย เช่น คำว่าไป สะกดเป็น ไอ + ปอ = ไป หรือ คำว่า เอก สะกดเป็น เอ + ออ + กอ = เอก
3. แล้วทีนี้จากคอมเมนต์ก็มีคนที่เรียนโรงเรียนเดียวกันกับที่สะกดไม่เหมือนชาวบ้านเค้า ออกมายืนยันว่าเด็กที่จบจากโรงเรียนนี้ จะใช้วิธีสะกดคำแบบนี้จริง ๆ พอไปเข้าเรียนที่อื่นก็ต้องทำความเข้าใจกันใหม่เลย
4. จากเรื่องนี้ทีมงานแคทดั๊มบ์ก็เลยไปรวบรวมข้อมูลมา และพบว่ามันเคยมีดราม่าเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว
5. ซึ่งทางโรงเรียนก็ชี้แจงว่าการสะกดคำแบบใหม่นี้มันคือการสะกดเรียงไปตามตัวอักษร เพื่อให้เด็กเรียนรู้ ทำความเข้าใจได้เร็ว สามารถวางตำแหน่งของสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ และตัวสะกดได้ถูกที่
อีกทั้งจากการวัดผลสอบ O-NET เด็กก็ไม่ได้ทำคะแนนแย่ มิหนำซ้ำยังทำได้ดีกว่าอีก จึงมีความมั่นใจว่าการสอนแบบนี้คือเรื่องที่ถูก และไม่มีเห็นจะมีปัญหาตรงไหน
6. แม้จะดูเหมือนว่ามีแต่ข้อดี ไม่มีข้อเสียเลย แต่นักภาษาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญทางด้านภาษาไทยก็ออกมาบอกว่ามันก็จะมีสระบางตัวที่ไม่สามารถอ่านสระบางตัวที่เป็นสระประสมได้ เช่น สระเออะ, สระเอีย, สระเอา, สระเอือ ฯลฯ เป็นต้น
7. บวกกับการที่แผนการศึกษายังใช้การสะกดคำแบบเดิม พอเด็กที่จบจากโรงเรียนดังกล่าวออกมาเจอโลกภายนอก ก็อาจจะทำให้เกิดความสับสน และอาจจะต้องมารื้อทำความเข้าใจกันใหม่ตั้งแต่ต้น
เรื่องทั้งหมดก็ประมาณนี้ครับ เพื่อน ๆ ชาวแคทดั๊มบ์คิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้บ้าง? ลองคอมเมนต์เข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้เลยเน้ออออ
เรียบเรียงโดย #เหมียวหง่าว