เชื่อว่าไม่ว่าใครก็คงจะเคยได้ยินคำสอนว่า “ให้ทำดีกับคนอื่น” แต่ถึงอย่างนั้นคนที่จะทำดีกับคนอื่นจริงๆ นั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ดูจะหายากเสียเหลือเกินเช่นกัน
ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายจริงๆ เพราะงานวิจัยใหม่ของมหาวิทยาลัยชิคาโกก็เพิ่งจะค้นพบเลยว่า การทำความดีกับคนอื่นนั้น จริงๆ แล้ว มีผลดีในระยะยาวกับทั้งตัวเราและสังคมกว่าที่หลายๆ คนคิด
เพราะไม่เพียงแต่ผู้ได้รับจะรู้สึกดีมากขึ้นจากการกระทำของเราเท่านั้น แต่คนที่ได้รับความเอื้ออาทรไป ยังมีแนวโน้มที่จะทำดีกับคนอื่นมากขึ้นอีกด้วย
โดยนักวิทยาศาสตร์ยืนยันแนวคิดนี้ ด้วยการทดลองที่ต่างกันหลายชิ้น
ซึ่งในการทดลองแรก อาสาสมัคร 84 คน จะได้เลือกว่าจะแจกเครื่องดื่มช็อกโกแลตร้อนให้คนแปลกหน้า หรือเก็บไว้ทานเอง ก่อนที่คนที่เลือกแจกเครื่องดื่มจะมีโอกาสได้คาดเดาคะแนนอารมณ์ของงคนที่ได้รับ
พวกเขาพบว่าอาสาสมัครส่วนใหญ่จะคิดว่าผู้รับเครื่องดื่มจะมีคะแนนอารมณ์อยู่ที่ 2.7 (คะแนนต่ำสุดคือ -5 และสูงสุดคือ 5) ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงผู้ถูกทำดีด้วยจะมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5
แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าคนส่วนใหญ่จะอารมณ์ดีขึ้นกว่าที่เราคิดเวลาถูกทำดีด้วย
เท่านั้นยังไม่พอในการทดลองอีกชิ้นซึ่งอาสาสมัครจะได้รับเงิน 100 ดอลลาร์ จากนักวิทยาศาสตร์ หรือได้รับเงินจากอาสาสมัครคนอื่นๆ (โดยไม่รู้ว่าเป็นเงินจากการทดลอง)
เมื่อทีมวิจัยลองให้อาสาสมัครเลือกว่าจะแบ่งเงินเท่าไหร่ให้คนแปลกหน้า คนที่ได้รับเงินจากอาสาสมัครคนอื่นๆ จะแบ่งเงินออกมาเท่าเทียมกว่า อาสาสมัครที่ได้เงินจากนักวิทยาศาสตร์โดยตรงด้วย
(เฉลี่ย 48.02 ดอลลาร์ เทียบกับ 41.2 ดอลลาร์)
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ทำให้นักวิจัยสรุปว่าความใจดีนั้นเป็นสิ่งที่ดี และติดต่อกันได้มากกว่าที่หลายๆ คนคิดไว้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากความใจดีจะมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายความเมตตาต่อไปเช่นกัน
ดังนั้น หากเราอยากมีส่วนช่วยให้สังคมรอบตัวดีขึ้น มันก็ไม่แน่เหมือนเรื่องง่ายๆ อย่างการใจดีกับคนอื่น ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อเลยก็ได้นะ
ที่มา
www.eurekalert.org/news-releases/962165
psycnet.apa.org/doiLanding?doi=10.1037%2Fxge0001271