เมื่อการถึงหัวข้อประโยชน์และโทษของวิดีโอเกมต่อเด็กๆ แม้แต่ในวงการวิทยาศาสตร์เอง เราก็มีทั้งงานวิจัยที่บอกว่าการเล่นวิดีโอเกมดี และวิจัยที่บอกว่าวิดีโอเกมไม่ดี
แต่สำหรับงานวิจัยใหญ่ชิ้นใหม่เมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งจะค้นพบเลยว่า เด็กอายุระหว่าง 9-10 ปี ที่เล่นเกมอย่างน้อย 3 ชม. ต่อวันนั้น จะมีทักษะความรู้ความเข้าใจดีขึ้น เทียบกับเด็กไม่เล่นเกมเลย
พวกเขาค้นพบเรื่องในครั้งนี้จากการศึกษาอาสาสมัคร 2,217 คนในกรณีศึกษาควบคุม เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างวิดีโอเกมกับ “พฤติกรรมการรับรู้”
โดยในการทดลองพวกเขาจะแบ่งเด็กเป็นสองกลุ่มได้แก่กลุ่มที่ไม่ได้เล่นเกมหรือเล่นเกมน้อย และกลุ่มที่เล่นเกมนานกว่า 3 ชม. ต่อวัน
(ที่เลือก 3 ชม. เป็นเพราะสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา มีข้อแนะนำไว้ว่าเด็กในกลุ่มอายุนี้ ไม่ควรเล่นเกมเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน)
ก่อนที่จะให้ทั้งสองปฏิบัติงานเพื่อวัดความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น การจดจำข้อมูล และการทำงานของสมองของเด็กในขณะปฏิบัติงาน
พวกเขาพบว่าเด็กกลุ่มที่เล่นเกมนานกว่า 3 ชม. นั้น โดยมากแล้วจะมีกิจกรรมในสมองบริเวณสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ สูงกว่าเด็กที่ไม่เล่นเกมในระหว่างการทำกิจกรรม
แสดงให้เห็นว่าสมองของพวกเขามีการทำงานของทักษะความรู้ความเข้าใจที่ดีกว่าอีกฝ่าย โดยเฉพาะกับงานที่ใช้ความรู้ความเข้าใจมาก
แต่แม้ผลในจุดนี้จะออกมาดี เราก็ต้องบอกไว้ด้วยว่าในด้านของการควบคุมพฤติกรรม ซึ่งเป็นอีกหัวข้อที่มักถูกหยิบยกมาพูดคุย
งานวิจัยชิ้นนี้ก็พบเช่นกันว่า เด็กที่เล่นเกมนานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันนั้น มักจะมีแนวโน้มที่จะรายงานปัญหาทางพฤติกรรมที่สูงกว่าเด็กที่ไม่เล่นเกมเลย เพียงแต่ตัวเลขที่ออกมาก็ไม่สูงพอที่จะมีนัยสำคัญทางสถิติ
ซึ่งนั่นหมายความว่าในงานวิจัยนี้ นักวิจัยไม่สามารถบอกได้ว่าการเล่นเกมจะทำให้เด็กก้าวร้าวมากขึ้นจริงๆ หรือไม่ และเราก็คงจะต้องมีงานวิจัยที่ทำการศึกษาข้อมูลในส่วนนี้โดยตรงอีกทีนั่นเอง
ที่มา
jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2797596
www.nih.gov/news-events/news-releases/video-gaming-may-be-associated-better-cognitive-performance-children