ในโลกของสัตว์ทะเล “โลมา” ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีชื่อเสียงในด้านความฉลาด
มันจึงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยกันเรื่อยมาว่าทำไมเราจึงพบสัตว์ประเภทนี้เกยตื้นตามชายหาดอยู่บ่อยๆ แถมบางครั้งพวกมันก็เกยตื้นพร้อมกันหลายตัวหรือทั้งฝูงเลยด้วย
นั่นทำให้มหาวิทยาลัยกลาสโกว์และสถาบันวิจัยโมเรดูนต้องพยายามที่จะออกมาไขยปริศนาการเกยตื้นลึกลับนี้เลย และล่าสุดนี้เองพวกเขาก็พบหลักฐานที่น่าสนใจแล้วว่า
สิ่งที่ทำให้โลมาเกยตื้นเป็นจำนวนมากเช่นนี้อาจเป็นเพราะ “จ่าฝูง” ของพวกมันป่วยเป็น “อัลไซเมอร์” ก็ได้
โดยนักวิทยาศาสตร์ค้นพบความเป็นไปได้นี้จากการศึกษาสมองของโลมา 22 ตัวจาก 5 สายพันธุ์ที่เกยตื้นอยู่บนหาดที่สกอตแลนด์และพบว่า
โลมาหลายตัวในนี้มีระดับโปรตีน Amyloid-beta สูงมาก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นกับสมองมนุษย์ที่เป็นอัลไซเมอร์ไม่มีผิด
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้พวกเขาตั้งขอสันนิษฐานว่าเหตุผลหลักๆ ที่โลมาส่วนใหญ่ลอยมาเกยตื้นนั้นอาจเป็นเพราะมันจำทางไม่ได้จากภาวะความผิดปกติทางสมอง
ซึ่งหากโลมาตัวที่ว่าเป็นจ่าฝูง มันก็อาจจะนำทางโลมามาเกยตื้นพร้อมๆ กันทั้งฝูงได้เลย
นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่แม้แต่ในมนุษย์โรคอัลไซเมอร์ก็ยังคงไม่ใช่จริงที่นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจได้ 100% แล้ว ดังนั้นเราจึงไม่อาจฟันธงได้ว่าโลมาจะมีอาการของโรคนี้เช่นเดียวกับคนจริงๆ หรือไม่
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามหากแนวคิดนี้เป็นจริง มันก็อาจจะเป็นคำตอบอย่างดีต่อปริศนาความตายที่เราพยายามหาคำตอบกันมานานเช่นกัน
และว่ากันตามตรงแนวคิดที่ว่าการที่ “ความไม่พร้อม” ของผู้นำเพียงตัวเดียวสามารถนำไปสู่ความตายของฝูงทั้งฝูงได้นั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะดูเกินจริงเลย อย่างน้อยๆ ก็ในมุมมองของมนุษย์อย่างเราๆ
ที่มา
onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/ejn.15900
www.theguardian.com/environment/2022/dec/19/dolphins-may-suffer-from-alzheimers-disease-say-researchers-in-scotland
futurism.com/neoscope/scientists-grim-theory-stranded-dolphins
www.sciencealert.com/stranded-dolphins-show-signs-of-alzheimers-disease-in-their-brains
www.gla.ac.uk/news/headline_904030_en.html