เชื่อว่าในช่วงเวลาเทศกาลแบบนี้ หลายๆ คนก็คงจะได้มีโอกาสหรือมีกำหนดการออกไปสังสรรค์กัน และมันก็คงมีหลายคนเช่นกัน ที่ต้องตื่นมาพบกับอาการ “แฮงค์” หรือ “เมาค้าง” ต้องมานั่งปวดหัวในอีกวัน
แต่ทราบหรือไม่ว่ามนุษย์เรานั้น มีคนบางกลุ่มซึ่งมีอาการแฮงค์ต่างจากคนทั่วไปด้วย โดยแทนที่จะแค่ปวดหัวหรือหิวน้ำเฉยๆ คนกลุ่มนี้จะรู้สึกแย่ ละอายใจ กังวล หรือรู้สึกผิดหลังดื่มได้ด้วย
อาการเช่นนี้ในปัจจุบันยังไม่ถูกจัดเป็นอาการที่ได้รับการยืนยันว่ามีอยู่จริงทางการแพทย์ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีคนเป็นกันเยอะจนมันมีชื่อเรียกเฉพาะอย่าง “Hangxiety”, “Booze blues” หรือ “Beer fear” เลย
โดยคุณ Craig Gunn นักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยามหาวิทยาลัยบริสตอลในอังกฤษคาดว่า
อาการเช่นนี้น่าจะเกิดจากการที่ อาการเมาค้างหลายอย่าง เช่น ภาวะขาดน้ำ การอดนอน หรือปริมาณแอลกอฮอล์ที่ยังตกค้างในร่างกายคน อาจไปกระตุ้นการทำงานที่อันตรายในระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหรือการตอบสนองต่อความเครียดได้
ซึ่งทั้งหมดก็ทำให้คนราวๆ 12% ของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์มีอาการเศร้าหรือจิตตกหลังการดื่มสุรานั่นเอง
“ร่างกายของคนที่ดื่มสุราบางคนจะมีการเพิ่มขึ้นของ Proinflammatory cytokine (โมเลกุลที่ทำให้เกิดการอักเสบ) และระดับคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด)
นอกจากนี้ ผลกระทบทางสรีรวิทยาของอาการเมาค้าง เช่น อัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้น ยังอาจทำให้เรารุ้สึกคล้ายกับกำลังวิตกกังวลได้ เมื่อรวมกันแล้วสิ่งเหล่านี้จึงอาจทำให้บางคนมีอารมณ์ด้านลบหลังดื่มสุรามากๆ ได้”
น่าเสียดายที่สุดท้ายแล้วอาการ Hangxiety ก็ยังคงเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังมีข้อมูลอยู่น้อยมาก มันจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะให้คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอาการเช่นนี้ในปัจจุบัน
แต่หากเรามองว่า Hangxiety หลายส่วนเกิดจากการแฮงค์ เราก็อาจจะหลีกเลี่ยงมันได้ง่ายๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ตัวเองแฮงค์ตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะจากการดื่มให้น้อยลง หรือเว้นจากการดื่มของมึนเมาไปเลยนั่นเอง
ที่มา
www.livescience.com/what-is-hanxiety
delamere.com/blog/hangxiety-link-between-alcohol-anxiety
www.healthline.com/health/hangover-anxiety