เรียกได้ว่าใจชื้นกันได้แค่ไม่นานเราก็มีข่าวไม่ดีเท่าไหร่มาให้ฟังอีกแล้ว เพราะหลังจากที่องค์กรนาซาทำการทดลองภารกิจที่ส่งยาน “DART” ไปเปลี่ยนวงโคจรดาวเคราะห์น้อยได้สำเร็จไปเมื่อช่วงปีที่แล้ว
ล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งจะออกมาประกาศเลยว่าดาวเคราะห์น้อยบางดวงนั้น อาจประกอบด้วยเศษหินชิ้นเล็กๆ จำนวนมหาศาลเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน และมันอาจเปลี่ยนวงโคจรได้ยากมากหากมันพุ่งเข้าหาโลกซะงั้น
โดยพวกเขาพบความจริงที่น่ากลัวนี้จากการตรวจสอบตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะและพบว่าอุกกาบาตที่เราเชื่อว่าเกิดจากฝุ่นและเศษหินในอวกาศมารวมตัวกันลูกนี้ จริงๆ แล้วไม่ได้จับตัวกันแน่นเป็นก้อนเดียวอย่างที่เราคิด
แต่มันเป็นแค่เศษหินที่อยู่รวมๆ กันแบบหลวมๆ มีช่องว่างระหว่างกันสูง แต่กลับเดินทางพร้อมกันได้ด้วยเหตุผลบางอย่าง และเราก็อาจจะมีอุกกาบาตแบบนี้อยู่อีกหลายลูกเลยด้วย
ปัญหาของการที่หินไม่ได้เป็นก้อนเดียวกันเช่นนี้ คือมันจะดูดซับแรงกระแทกได้ดี มันจึงจัดการได้ยากมากหากพุ่งเข้าหาโลก เพราะไม่เพียงแต่เราจะไม่สามารถใช้ DART เปลี่ยนวงโคจรของมันได้ง่ายๆ เท่านั้น
แต่การจะทำลายมันให้หมดจริงๆ ยังอาจทำได้ค่อนข้างยากเลยด้วย
ดังนั้น ตัวตนของอุกกาบาตเช่นนี้จึงอาจจะทำให้เราต้องหาวิธีป้องกันอุกกาบาตแบบอื่นๆ อีกหลายอย่าง ไม่ใช่แค่หวังพึ่งพา DART เปลี่ยนวงโคจรอย่างเดียวเลยนั่นเอง
ที่มา
phys.org/news/2023-01-rubble-pile-asteroids-impossible-destroy.html
futurism.com/giant-asteroid-actually-swarm-particles-impossible-destroy