ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่อากาศแย่ลำดับต้นๆ ของโลกอยู่เรื่อยๆ เคยนี้ หลายๆ คนคงจะตระหนักกันแล้วว่าปัญหาสภาพอากาศเป็นสิ่งที่ร้ายแรงแค่ไหน
แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัญหามลภาวะนั้น จริงๆ แล้วยังอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าที่เราคิดอีกก็ได้ เพราะจากงานวิจัยใหม่ของ คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยโมนาช
มีคนเพียงแค่ 0.001% ของโลกเท่านั้น ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 ต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัย ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำที่ 5 μg/m3 (ว่าง่ายๆ เลข AQI ต้องแทบจะเป็น 0 เลย)
หรือก็คือคนแทบทั้งโลกนั้น “แทบไม่มีใครปลอดภัยจาก PM 2.5 เลย”
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ หลักๆ เป็นเพราะระดับเฉลี่ยของ PM 2.5 บนโลกระหว่างปี 2000-2019 มันอยู่ที่ 32.8 μg/m3 (เลข AQI อยู่ที่ราวๆ 95) มากกว่าเกณฑ์ที่แนะนำถึงหกเท่า
นั่นหมายความว่าในปัจจุบันเราเหลือพื้นที่ในโลก (ที่ไม่ใช่ทะเล) เพียง 0.18% เท่านั้นที่ยังมีระดับค่า PM 2.5 ต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ
และนี่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่มาจากการตั้งเกณฑ์ต่ำไปด้วย เพราะวิจัยในปี 2022 ก็เคยพบมาแล้วด้วยว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ของคนกว่าเก้าล้านคน (สถิติปี 2015)
ทีมวิจัยจึงบอกว่ามันอาจจะถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องทำอะไรสักอย่างกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นเราคงจะมีคนอีกมากมายเลย ที่ต้องด่วนจากโลกไปเพราะปัญหามลพิษทางอากาศเช่นนี้
ที่มา
time.com/6260752/harmful-global-air-pollution-problem/
www.washingtonpost.com/climate-environment/2023/03/06/air-pollution-unhealthy-levels-exposure/
futurism.com/neoscope/99-percent-population-breathing-harmful-air