ดูจะเป็นข่าวดีอีกข่าวของวงการพลังงานสะอาดเลยครับ เมื่อล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียได้ ทำการค้นพบเอนไซม์ตัวหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างไฟฟ้าจากอากาศได้
แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของเซลล์เชื้อเพลิงแบบใหม่ ที่จะสามารถชาร์จตัวเองได้ผ่านอากาศโดยที่เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย
เอนไซม์ตัวใหม่นี้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า Huc โดยมันเป็นเอนไซม์ที่สามารถเปลี่ยนไฮโดรเจนในชั้นบรรยากาศให้เป็นไฟฟ้าได้
แถมยังสกัดได้จากแบคทีเรียในดินที่พบได้ทั่วไปอย่าง Mycobacterium smegmati และมีความทนทานสูงสามารถเอาชีวิตรอดได้ในอุณหภูมิตั้งแต่ติดลบจนสูงถึง 80 °C เลยด้วย
“Huc มีประสิทธิภาพที่ไม่ธรรมดาเลย… มันต่างจากเอนไซม์และตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีอื่นๆ ที่เรารู้จักกันตรงที่ มันสามารถใช้ไฮโดรเจนต่ำกว่าระดับชั้นบรรยากาศทำไฟฟ้า
และใช้ไฮโดรเจนทำไฟฟ้าน้อยมาก แค่ 0.00005% ของอากาศที่เราหายใจก็พอ”
Rhys Griinter หัวหน้าฝ่ายวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโมนาชกล่าว
ความสามารถนี้เองทำให้นักวิจัยเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ที่เราจะสร้างแบตเตอรี่พลังงานจากแบคทีเรียสำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็ก อย่างเช่นสมาร์ทวอทช์ในอนาคตได้เลย
“เมื่อคุณให้ไฮโดรเจนที่มีความเข้มข้นขึ้นกับ Huc มันจะผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้นไปด้วย… นั่นหมายความว่ามันอาจถูกใช้เป็นเซลล์เชื้อเพลิง ให้พลังงานให้อุปกรณ์ที่ซับซ้อนตามไปด้วย
เราอาจใช้มันใน สมาร์ทวอทช์ สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์พกพาที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ และหากโชคดีเราก็อาจจะใช้งานมันได้แม้แต่กับรถยนต์เลย”
Rhys Griinter กล่าวเพิ่มเติม
ที่มา
www.livescience.com/scientists-discover-enzyme-that-can-turn-air-into-energy-unlocking-potential-new-energy-source
futurism.com/the-byte/enzyme-turn-air-into-electricity