กำลังเป็นเรื่องราวที่นักวิทยาศาสตร์หลายๆ กลุ่มกังวลเลยครับ
เมื่อไม่นานมานี้ นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยสหพันธ์ปารานาได้ค้นพบก้อนหินประหลาดสีน้ำเงินเขียวบนเกาะภูเขาไฟ “ตรินดาจี” ซึ่งห่างไกลจากชายหาดบราซิลร่วม 1,140 กิโลเมตร และแทบจะไร้ซึ่งผู้คนอาศัยเลย
แต่ปัญหาคือหลังจากนำมันไปตรวจสอบพวกเขากลับพบว่า หินที่ว่านี้ จริงๆ แล้วมันเป็นหินชนิดใหม่ที่เรียกกันว่า “Plastiglomerates” ซึ่งเกิดจากการที่พลาสติกถูกความร้อน จนละลายรวมตัวกับทรายและหิน
แถมในกรณีนี้พลาสติกส่วนใหญ่ก็มาจากอวนจับปลา ซึ่งเป็นเศษขยะที่พบได้บ่อยๆ บนชายหาดของเกาะเสียด้วย
“นี่เป็นเรื่องใหม่และน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกันเลย เพราะมันหมายความว่ามลพิษได้มาถึงวงการธรณีวิทยาที่นี่แล้ว” Fernanda Avelar Santos นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยสหพันธ์ปารานากล่าว
นี่นับว่าเป็นข่าวที่น่าเศร้าเลย เพราะการพบหินเช่นนี้อาจหมายความว่าบนเกาะมีพลาสติกตกค้างอยู่มากกว่าที่คิด
ซึ่งอาจเป็นอันตรายมากต่อสิ่งมีชีวิตบนเกาะ โดยเฉพาะเต่า เนื่องจากเกาะตรินดาจีถือว่าเป็นสถานที่อนุรักษ์เต่าตนุที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลย
แต่แม้ว่าในปัจจุบันจะมีหลายๆ ฝ่ายพยายามจัดการกับปัญหาขยะบนเกาะอยู่เรื่อยๆ ก็ตาม สุดท้ายแล้วพวกเขาก็จะยังคงพบเห็นขยะตามชายหาด รวมถึงบริเวณเดียวกันกับที่เต่าวางไข่อยู่ดี
ที่มา
www.reuters.com/lifestyle/science/brazilian-researchers-find-terrifying-plastic-rocks-remote-island-2023-03-15/
www.iflscience.com/plastic-rocks-found-on-remote-volcanic-island-are-a-terrifying-discovery-68024