ดูเหมือนว่าดวงจันทร์ “Enceladus” บริวารของดาวเสาร์เองก็อาจจะมีสิ่งมีชีวิตได้เหมือนกันเสียแล้วครับ
นั่นเพราะหลังจากที่เมื่อช่วงเดือนก่อน ได้มีรายงานว่าบนดวงจันทร์บริวารที่ดูจะเย็นจนเป็นน้ำแข็งดวงนี้ มีไอน้ำพุ่งขึ้นมาจากรอยแยกบนพื้นผิวด้วย แสดงให้เห็นว่าใต้น้ำแข็งของ Enceladus จริงๆ แล้วอาจมีแหล่งน้ำ
และล่าสุดเราก็พบว่าในไอน้ำที่ว่ามี “ฟอสฟอรัส” สารเคมีที่สำคัญต่อการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตด้วย ทำให้มหาสมุทรใต้ Enceladus อาจเป็นมหาสมุทรนอกโลกแห่งเดียวที่เรารู้จัก
ซึ่งมีธาตุทั้งหกที่จำเป็นต่อชีวิต ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน เลย
โดย Frank Postberg นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน หัวหน้าทีมวิจัย ระบุว่า ฟอสเฟตหรือฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต เพราะมันใช้สร้าง DNA, RNA และเยื่อหุ้มเซลล์
แต่ในบรรดาธาตุที่จำเป็นต่อชีวิต ฟอสฟอรัสถือเป็นองค์ประกอบที่มีอยู่น้อยที่สุดในเอกภพเลย การค้นพบในครั้งนี้จึงหน้าจับตาเอามากๆ
แต่เราก็คงต้องบอกไว้ด้วยเช่นกันว่าแม้จะมีองค์ประกอบของชีวิตครบ เราก็ยังไม่เคยพบสิ่งมีชีวิตบน Enceladus จริงๆ และการจะส่งยานไปเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์นี้เองก็อาจจะต้องให้เวลานานหลายสิบปีเลยด้วย
แต่การที่ดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์ที่เป็นน้ำแข็งคล้ายๆ ดาวนี้มีอยู่ค่อนข้างเยอะมันก็นำมาซึ่งความเป็นไปได้ที่น่าสนใจเลยว่า ดาวเหล่านี้อาจจะเป็นสถานที่ที่ดีที่เราจะตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกเลยก็ได้
ที่มา
www.nature.com/articles/s41586-023-05987-9
www.nationalgeographic.com/premium/article/astronomers-detect-key-element-for-life-on-saturns-moon-enceladus
www.nytimes.com/2023/06/14/science/enceladus-phosphorus-life.html
edition.cnn.com/2023/06/14/world/enceladus-ocean-phosphorus-scn/index.html