ช้างไทย กลายเป็นทูตสันทวไมตรี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนานาชาติ อย่างกรณีของ พลายศักดิ์สุรินทร์ ที่ได้กลับบ้านมารักษาตัวอยู่ที่บ้านเกิด แต่ทว่ามีช้างอีกหนึ่งเชือกที่ไม่ได้กลับมา และต้องตายอย่างโดดเดี่ยว
ฮานาโกะ คือชื่อที่ทางญี่ปุ่นตั้งให้กับช้างไทยตัวนี้ โดยหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ร้อยเอก สมหวัง สารสาส ซื้อลูกช้างเพศเมียอายุ 2 ปี ส่งไปที่ สวนสัตว์อุเอโนะ มีจุดประสงค์เพื่อปลอบใจเด็กๆ ที่หวาดกลัวสงคราม
สวนสัตว์ได้ตั้งชื่อ ฮานาโกะ ให้กับช้างเชือกนี้ จากชื่อเดิม พังคชา ผู้ดูแลที่ญี่ปุ่นเคยเรียกว่า คชาโกะ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ฮานาโกะ อย่างเป็นทางการ
วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2492 ฮานาโกะข้ามน้ำข้ามทะเลจากไทยไปถึงท่าเรือโกเบ มีเด็กแห่มาดูช้างกันเป็นจำนวนมาก
ซึ่งทางสวนสัตว์อุเอโนะเคยมีประสบการณ์เลี้ยงช้างมาก่อน เป็นช้างที่รัฐบาลไทยเคยส่งมาเป็นทูตสนทวไมตรีเมื่อปี พ.ศ. 2478 แต่ต้องอดอยากตายเพราะสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 และมันมีชื่อว่า ฮานาโกะ เหมือนกัน
จากสวนสัตว์อุเอโนะ ฮานาโกะก็ได้ย้ายมาสู่ สวนสัตว์อิโนะกะชิระ กลายเป็นขวัญใจของสวนสัตว์และเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองมูซะชิโนะ มีโรงช้างเป็นบ้านหลังใหญ่สะดวกสบาย พร้อมอุปกรณ์ดูแลอย่างดีเยี่ยม
จุดเปลี่ยนของ ฮานาโกะ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2503 มีเหตุการณ์ช้างทำร้ายผู้ดูแลของสวนสัตว์จนเสียชีวิต ฮานาโกะจึงถูกลามโซ่ขังอยู่ในคอกคอนกรีต แต่ด้วยความที่ช้างเป็นสัตว์สังคม การจับขังเดี่ยวก็เป็นการทำร้ายช้างทางอ้อม
เรื่องราวการถูกขังของฮานาโกะ ถูกเปิดเผยครั้งแรกโดย อุราระ นาคากาวะ ผู้ก่อตั้งองค์กร Elephants in Japan ระบุว่า ฮานาโกะ อยู่อย่างโดดเดี่ยวในคอกคอนกรีตจนมันมีอายุมากถึง 69 ปี ไม่ได้เหยียบพื้นดินหรือพื้นหญ้า ไม่มีแม้แต่อิสระในการออกไปเดินเล่น และไม่มีเพื่อนคอยดูแลใจ
ฮานาโกะ เสียชีวิตลงในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ถือว่าเป็นช้างที่มีอายุมากที่สุดในญี่ปุ่น โดยสถิติในปี พ.ศ. 2558 ญี่ปุ่นมีช้างไทยในสวนสัตว์ทั้งหมด 14 เชือก แต่ฮานาโกะต้องอยู่ในคอกคอนกรีตเพียงลำพังจนถึงวันสุดท้ายของมัน
เพื่อเป็นการระลึกถึง ฮานาโกะ ญี่ปุ่นทำการสร้างรูปปั้นช้างสูง 1.5 เมตร ยาว 2.5 เมตร โดยปัจจุบันตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟ คิชิโจจิ เมืองมูซะชิโนะ
#เหมียวเลเซอร์