เคยเป็นกันไหม ตัวเราไม่รู้สึกอะไรเป็นพิเศษนะ แต่คนรอบๆ ตัวดูจะเป็นห่วงว่าเราเครียดเหลือเกิน นั่นเพราะหากคนเหล่านั้นสังเกตเห็น “อะไรบางอย่าง” ไม่แน่นะว่าเราอาจจะมีอาการ “Quiet Stress” หรือ “เครียดไม่รู้ตัว” ก็ได้
แนวคิดเกี่ยวกับอาการ Quiet Stress ว่ากันตรงๆ แล้วยังไม่ถือเป็นอาการที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่ก็กำลังได้รับความสนใจค่อนข้างมากในแวดวงการแพทย์และกลุ่มวิจัย
โดย Jillian Lavender จากศูนย์ฝึกสมาธิในลอนดอนอธิบายว่า Quiet Stress คืออาการเครียดที่เราเก็บไว้เงียบๆ ไม่มีอาการแสดงออกใดๆ ให้เห็นชัด จนในหลายๆ ครั้งแม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเครียด
ซึ่งจะเห็นได้ค่อนข้างบ่อยในกลุ่มคนที่ไม่ได้มีเรื่องเครียดมากๆ เป็นชิ้นเป็นอัน แต่มีความเครียดเล็กน้อยๆ หลายอย่าง คนที่มีเรื่องเครียดระยะยาวจนเจ้าตัวเข้าใจว่า “ชินแล้ว” หรือคนที่คิดว่าตัวเองควบคุมความเครียดได้ (แต่จริงๆ ไม่ใช่)
ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงเตือนว่าคนที่มีอาการหรือความเสี่ยงต่อไปนี้ อาจจะต้องระวังว่าตัวเองอาจมีอาการเครียดไม่รู้ตัวกันหน่อยนะ
– มีอาการปวดหรือเจ็บที่กรามหรือฟันทั้งที่ฟันไม่ได้มีปัญหา (อาจเผลอกัดฟันไม่รู้ตัว)
– ความทรงจำเหมือนจะสั้นแปลกๆ (อาจเกิดจากการพยายามลืมเรื่องเครียดมากเกินไป)
– ประจำเดือนมาไม่ปกติ (เครียดจนส่งผลกับฮอร์โมน)
– มีปัญหาการย่อยอาหาร (ความเครียดทำให้ร่างกายผลิตกรดย่อยอาหารมากขึ้น)
– รู้สึกดื่มน้ำไม่พอเสมอ (ฮอร์โมนความเครียดทำให้ต่อมหมวกไตทำงานหนักจนรู้สึกขาดน้ำ)
– ปวดกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อตึงบ่อยๆ (ความเครียดทำให้ร่างกายตื่นตัวจนล้า)
– นอนมากเกินไป หรือนอนน้อยเกินไป (เครียดจนมีปัญหาการนอน)
– เริ่มฝันประหลาดๆ (ช่วงการนอนหลับ REM เป็นช่วงที่การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น)
– กินจุ๊บจิ๊บตลอดเวลา (เข้าข่ายเครียดแล้วกิน)
– รู้สึกขัดใจอะไรก็ไม่รู้ (ความเครียดทำให้ร่างกายตื่นตัวเกินไป)
– ผมร่วงผิดปกติ (เครียดจนผมร่วง)
ที่มา
cassioburycourt.com/2020/11/what-is-quiet-stress/
americanaddictioncenters.org/blog/quiet-stress-in-the-pandemic
www.insider.com/how-to-know-if-youre-stressed-2018-4