เรื่องที่การรับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะจากการสูดดมหรือสูบบุหรี่โดยตรงเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกายนั้น มันถือเป็นข้อมูลที่ไม่ว่าใครก็คงจะเคยได้ยินกันสักครั้ง
แต่จากการวิจัยชิ้นใหม่ของนักชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ดูเหมือนว่าจริงๆ แล้ว สารก่อมะเร็งจากควันบุหรี่จะไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ปอดเท่านั้น เพื่อเป็นอันตรายกับคนหรอกนะ
นั่นเพราะสารนิโคตินจากควันจากบุหรี่นั้น สามารถสร้างเสียหายของผิวหนังจากการสัมผัสได้ด้วย
อันตรายของบุหรี่ในจุดนี้ ถูกพบโดยนักวิทยาศาสตร์ ภายในการศึกษาอันตรายของ “บุหรี่มือสาม” (Thirdhand Smoke) หรือ THS ซึ่งว่าด้วยสารพิษตกค้างจากควันบุหรี่ที่ดับแล้ว
โดยในการทดลองพวกเขาได้ใช้แบบจำลอง 3 มิติของผิวหนังชั้นนอกไปรับสารนิโคตินเท่ากับระดับของนิโคตินที่อาจพบในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนจากบุหรี่
พวกเขาพบว่าแม้ในระยะสั้น การสัมผัสกับสารจากบุหรี่จะไม่ทำอันตรายกับผิวหนังนัก แต่เมื่อผิวหนังต้องเผชิญสารเหล่านี้เป็นเวลานาน (ในการทดลองคือ 24 ชั่วโมง) สารพิษจากบุหรี่ก็จะสามารถทำให้เซลล์เสียหายได้เช่นกัน
ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงเตือนว่าเด็กเล็ก หรือผู้มีปัญหาสุขภาพผิวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจได้รับผลกระทบจากสารตกค้างจากบุหรี่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานหรืออาศัยในสภาพแวดล้อมที่มีการตกค้างสูง
ที่สำคัญปัญหาเช่นนี้ ยังไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับบุหรี่ธรรมดาเท่านั้น แต่ยังมีเกิดกับควันจากบุหรี่ไฟฟ้าหลายๆ ชนิดด้วย เรียกได้ว่าขอแค่มีนิโคติน ควันจากยาสูบดังกล่าวก็อาจตกค้างเป็นปัญหาได้แล้ว
“การค้นพบนี้แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า การจำกัดการสูบบุหรี่ทั้งแบบธรรมดาและไฟฟ้าในอาคาร และนโยบายสำหรับการแก้ไขสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนนิโคติน อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมากแล้ว”
คุณ Giovanna Pozuelos หนึ่งในทีมวิจัยระบุ
ที่มา
www.mdpi.com/2073-4433/13/5/810
https://news.ucr.edu/articles/2022/06/08/human-skin-can-be-damaged-exposure-thirdhand-smoke-and-electronic-cigarette
futurism.com/neoscope/cigarettes-damage-skin-contact