ด้วยข่าวการหายตัวไปของศิลปินดนตรีในช่วงคืนที่ผ่านมา หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยกันบ้างแล้วว่า ทำไมกันในหมู่ “นักดนตรี” ถึงดูจะมีคนเป็น “โรคซึมเศร้า” หลายคนเหลือเกิน
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การคิดไปเอง เพราะจากผลสำรวจในปี 2010 งานอย่างศิลปินก็เคยติดอันดับ 5 ของอาชีพที่มีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงที่สุดมาแล้ว
และในปี 2020 ก็เคยมีวิจัยที่บอกว่านักดนตรีมีแนวโน้มที่จะมีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึงสามเท่าด้วย
อ้างอิงจากบทความของ The Guardian สิ่งที่ทำให้ศิลปินนักดนตรีเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนทั่วไปนั้น มีปัจจัยสำคัญมาจากการใช้ชีวิตของพวกเขาเอง
เพราะงานในด้านนี้มักถูกมองว่าไม่มั่นคง จนนักดนตรีหลายคนขาดการสนับสนุนและความเข้าใจจากคนรอบตัว ซึ่งบ่อยครั้งก็อาจนำไปสู่การดื่มสุราหรือใช้สารเสพติดที่ยิ่งทำให้อาการแย่ขึ้นไปอีก
เท่านั้นยังไม่พอหลายคนเลือกที่จะมาเป็นศิลปินเพราะอยากเป็นที่ยอมรับและได้ความรักจากผู้ชม แต่งานดังกล่าวกลับมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง
นำไปสู่ความไม่พอใจหรือผิดหวัง จนรู้สึกว่างานของตัวเองไม่มีค่า หรือไม่ใช่ “งาน” จริงๆ ได้
“มันเป็นงานที่เสี่ยงแม้จะไม่กล่าวถึงการใช้ยาเลย… สิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับผมคือการอดนอน พวกเราหลายคนมีเที่ยวบินระหว่างการแสดงเป็นเวลานอน
มันเลวร้ายและทำให้เรามักรู้สึกขมขื่นกับเรื่องทั้งหมด จนบางครั้งเราก็รู้สึกว่าทุกคนที่เราทำงานด้วยเหมือนเป็นปีศาจไม่มีผิด” คุณ Grian Chatten นักร้องชาวไอร์แลนด์ระบุ
ดังนั้น อาจารย์ใหญ่ด้านการจัดการธุรกิจดนตรีอย่างคุณ Sally-Anne Gross จึงออกมาระบุว่า นี่อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยสนับสนุนเหล่าศิลปินเหล่านี้
เพราะเราเชื่อว่าดนตรีมีบทบาทสำคัญต่อความรู้สึกและสุขภาพจิตของผู้คนอย่างแท้จริง คนที่ทำงานในสายงานนี้จึงไม่ควรที่จะต้องเป็นบุคคลที่มีสุขภาพจิตไม่ดีเสียเองเลย
ที่มา
www.westminster.ac.uk/news/musicians-are-three-times-more-likely-to-experience-anxiety-or-depression-than-the-general-public
www.theguardian.com/music/musicblog/2010/dec/17/musicians-depression
faroutmagazine.co.uk/musicians-more-likely-suffer-mental-health-issues/