สำหรับมนุษย์อย่างเราๆ “น้ำจืด” ก็เหมือนกับเป็นสายธารแห่งชีวิต หากขาดมันไป มันก็คงจะเป็นเรื่องยากเลย ที่สังคมมนุษย์จะมีชีวิตต่อไปได้
ดังนั้นนี่อาจจะถือเป็นข่าวร้ายสำหรับหลายๆ คนเลย เพราะล่าสุดนี้เอง นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส A&M ก็เพิ่งจะค้นพบเลยว่า
ในปัจจุบันแหล่งทะเลสาบน้ำจืดทั่วโลกกำลังประสบปัญหาน้ำระเหยออกไปในอัตราซึ่งมากกว่าที่เราเคยคิด และมันอาจจะมีผลกระทบรุนแรงต่อสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศได้เลย
โดยปัญหาของการระเหยของนำในครั้งนี้ คาดกันว่ามาจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น บวกกับการแผ่รังสีดวงอาทิตย์เอง
ซึ่งแม้มันจะเป็นการระเหยที่เกิดขึ้นจะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ แต่มันก็อาจจะทำให้ในบางพื้นที่ต้องเผชิญกับการขาดน้ำจืดได้เลย
“เราพบว่าการระเหยของทะเลสาบในระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 1,500 (บวกหรือลบ 150) ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี ซึ่งมากกว่าการประมาณการในอดีตถึง 15.4%”
นั่นทำให้ในตอนนี้ท้องฟ้าได้รับน้ำขึ้นไปมากถึง 3 ล้านล้านลิตรต่อปี และหลายๆ ส่วนเองก็มาจากอ่างเก็บน้ำของมนุษย์เราด้วย
ถึงขนาดที่ หากมองจากมุมมองทั่วโลกรวมกัน การระเหยของอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ก็อาจมากกว่าการใช้น้ำในประเทศและวงการอุตสาหกรรมรวมกันเสียอีก เยอะจนไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงได้กังวลกับเรื่องนี้
แต่แม้การค้นพบนี้อาจจะไม่ใช่ข่าวที่ดี การที่เรารู้ตัวเร็วว่าน้ำจืดกำลังระเหยเร็วขึ้นก็อาจนำมาซึ่งข้อมูลสำคัญที่จะช่วยปรับปรุงการตัดสินใจในการจัดการอ่างเก็บน้ำทั่วโลกได้เช่นกัน
และชุดข้อมูลนี้ก็อาจจะมีส่วนช่วยในการศึกษาบทบาทของแหล่งน้ำต่อระบบการทำงานของโลก เพื่อการพยากรณ์อากาศที่ดีขึ้น หรือแม้แต่การสร้างแบบจำลองน้ำท่วมและภัยแล้งที่แม่นยำกว่าที่เคยเป็นมาเลย
ที่มา
www.nature.com/articles/s41467-022-31125-6
www.sciencealert.com/fresh-water-in-lakes-around-the-world-is-evaporating-at-an-accelerated-rate