ในตอนที่องค์กร NASA และ ESA เปิดตัวภาพใหม่ของกาแล็กซีชื่อ “SGAS J143845+145407” ซึ่งถูกจับภาพไว้โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
หลายคนอาจสังเกตกันว่ากาแล็กซีนั้นมีลักษณะแปลกประหลาดใช่เล่น ราวกับมันเป็นกาแล็กซี 2 แห่งที่มีรูปร่างก็อปวางกันมาเลย
แต่เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่เราเห็นนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่กาแล็กซี 2 แห่งอย่างที่คิด
กลับกันกาแล็กซีในภาพนั้น จริงๆ แล้วมีอยู่แค่อันเดียว เพียงแต่มันถูกทำให้แยกเป็นสองภาพด้วยปรากฏการณ์คล้ายการส่องกระจกชื่อ “Gravitational lensing” ก็เท่านั้น
โดยปรากฏการณ์ Gravitational lensing นั้น เกิดขึ้นเมื่อวัตถุบนองฟ้าขนาดใหญ่เช่นกระจุกกาแล็กซี ทำให้เกิดความโค้งของ “กาลอวกาศ” (Space time) ทำให้แสงรอบๆ เดินทางโค้งงอไปจากความเป็นจริง
อย่างในกรณีนี้คือกาแล็กซี SGAS J143845+145407 ซึ่งอยู่ห่างออกไป 6,900 ล้านปีแสง ได้ไปตั้งอยู่หลัง กระจุกกาแล็กซีที่อยู่ห่างออกไป 2,800 ล้านปีแสงพอดี
แสงที่เดินทางจาก SGAS J143845+145407 จึงถูกรบกวนจนโค้งงอไปจากความเป็นจริง และทำให้ภาพของมันดูราวกับแยกเป็นสองส่วนในตอนที่มาถึงเรานั่นเอง
นี่อาจจะถือเป็นปรากฏการณ์ที่ฟังดูแปลกอยู่บ้าง แต่มันก็เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สามารถนำมาใช้งานได้อย่างดี
เพราะการใช้ประโยชน์จาก Gravitational lensing จะทำให้เราสามารถจับรายละเอียดของกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลออกไปได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา
และสิ่งนี้ก็อาจจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงวิวัฒนาการโดยรวมของกาแล็กซี หรือแม้แต่การก่อตัวของดาวในยุคแรกเริ่มของกาแล็กซีได้เลยนั่นเอง
ที่มา
esahubble.org/images/potw2229a/
www.sciencealert.com/a-weird-quirk-of-gravity-created-a-galaxy-mirror-in-this-amazing-hubble-image