ด้วยสถานะหนึ่งในงานอดิเรกยอดนิยมของผู้คน “วิดีโอเกม” ได้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงอยู่บ่อยครั้งว่าตกลงแล้วเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ จนแม้แต่ในทางวิทยาศาสตร์เราก็มีทั้งงานวิจัยที่แสดงข้อดีและข้อเสียของเกมออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
อย่างล่าสุดนี้เองเราก็เพิ่งจะมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ออกมาบอกว่า วิดีโอเกมสามารถช่วยเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจที่จำเป็นสำหรับการ “ตัดสินใจที่ดี” ได้ของผู้คนได้ ตราบใดที่การเล่นเกมดังกล่าวอยู่ในระดับที่ไม่มากเกินไปด้วย
โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจียได้ค้นพบว่า ในการทดลองวัดการทำงานของระบบประสาทอาสาสมัครช่วงอายุมหาวิทยาลัย 47 คน (28 คนเล่นเกมอยู่แล้ว ขณะที่ 19 คนไม่เล่นเกม)
พวกเขาพบว่าคนที่เล่นเกมมาแล้ว จะสามารถกดปุ่มเพื่อตอบสนองต่อทิศทางต่างๆ ได้เร็วว่าคนที่ไม่เคยเล่นเกม
และผลจากการใช้ MRI วัดการทำงานของระบบประสาทของอาสาสมัคร นักวิทยาศาสตร์ก็ยังพบว่าสมองบางส่วนของคนที่เล่นเกม จะมีการทำงานของกิจกรรมที่เร็วขึ้นภายในการทดลองด้วย
ซึ่งส่วนของสมองที่ว่าก็ร่วมถึง “รอยนูนรูปลิ้นด้านขวา” (Right lingual gyrus) และส่วน “ทาลามัส” (Thalamus) ที่คาดกันว่าเกี่ยวข้องกับการประมวลผลทางปัญญา เพื่อการเคลื่อนไหวร่างกายตอบสนองต่อภาพด้วย
“ผลลัพธ์เหล่านี้บ่งชี้ว่าการเล่นวิดีโอเกมอาจช่วยเพิ่มกระบวนการย่อยหลายอย่างที่จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะในการตัดสินใจได้
หากเราสามารถระบุตัวเครือข่ายสมองที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน มันก็อาจสามารถใช้สำหรับการฝึกอบรมความสามารถการตัดสินใจ หรือนำไปสู่วิธีการบำบัดใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย” ทีมวิจัยสรุป
แต่แม้งานวิจัยนี้จะฟังดูดีก็ตาม เราก็คงต้องเตือนไว้ด้วยว่าอะไรที่มากเกินไปก็อาจจะนำมาซึ่งข้อเสียได้ และการเล่นเกมที่มากเกินเอง ก็เคยมีงานวิจัยที่บอกว่าอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ (โดยเฉพาะสายตา) มาก่อนแล้วเช่นกัน
ที่มา
www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2666956022000368
www.sciencealert.com/all-that-video-gaming-could-be-improving-your-decision-making