การเกิดโรคซึมเศร้านั้น ในปัจจุบันเชื่อว่าอาจจะเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งในส่วนของปัจจัยแวดล้อมทางสังคม เช่น การเลี้ยงดู ความเครียด เป็นต้น
หรืออีกสาเหตุ ก็คือการเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง โดยเฉพาะสารเซโรโทนินเป็นที่ได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนควบคุมอาการซึมเศร้า
ล่าสุดนี้มีงานวิจัยที่น่าสนใจ จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน นักวิทยาศาสตร์กลับเพิ่งออกมาเปิดเผยเลยว่า จริงๆ แล้วสารเซโรโทนินอาจจะแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าก็เป็นได้
โดยพวกเขาพบข้อสรุปนี้ ในการทำ Umbrella review (วิจัยที่รวบรวมวิจัยอื่นๆ จำนวนมาก มาหาข้อสรุป) จากงานวิจัยจำนวนถึง 17 ชิ้น
ก่อนที่จะพบว่าจริงๆ แล้ว เรายังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ หรือผลวิจัยที่น่าเชื่อถือใดเลย ที่สามารถชี้ชัดได้ว่าการมีสารเซโรโทนินน้อย จะทำให้เกิดโรคซึมเศร้าจริงๆ
นี่นับว่าเป็นงานวิจัยที่น่าจับตาอีกชิ้นเลย เพราะในปัจจุบันเรามียารักษาโรคซึมเศร้าหลายตัวที่อาศัยการปรับระดับสารเซโรโทนินอยู่ (SSRI antidepressants)
ถึงอย่างนั้นก็ตาม นักวิจัยก็ระบุไว้ด้วยว่างานวิจัยนี้ไม่ได้หมายความว่า “ยาปรับสารเซโรโทนินจะไม่มีผลเลยเสียทีเดียว” เพียงแค่เรา “ไม่สามารถสรุปได้” ว่ามันใช้ได้ผลหรือคุ้มค่าเท่านั้น
นอกจากนี้ ปัจจัยของโรคซึมเศร้าที่มีอยู่หลายปัจจัย จึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงปรับแนวทางรักษาทั้งทางชีวภาพ หรือทางเรื่องสังคม ไปตามข้อมูลและผลการศึกษาใหม่ๆ ที่จะออกมาในอนาคตอีกด้วย
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึง “ไม่ควรจะหยุดการใช้ยาด้วยตัวเอง” และหากจะทำอะไรก็ควรมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาอยู่ก่อนด้วย
มิใช่การฟันธงว่าแบบนี้ไม่ได้ผล หรือจู่ๆ ก็หยุดยาไปเลยด้วยเช่นกัน
อ่านงานวิจัยนี้ได้ที่
www.nature.com/articles/s41380-022-01661-0
ที่มา
theconversation.com/depression-is-probably-not-caused-by-a-chemical-imbalance-in-the-brain-new-study-186672
https://www.facebook.com/ThaiPsychiatricAssociation/photos/a.508327102604644/4849770008460310/