มันเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์มีงานวิจัยยืนยันกันมาหลายชิ้นว่า “การนอน” ถือเป็นสิ่งที่สำคัญกับเด็กๆ และยิ่งคนเราอายุน้อยลงเท่าไหร่ เวลานอนต่อวันที่ควรได้รับก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
แต่การนอนของเด็กนั้นจริงๆ แล้วก็อาจจะสำคัญยิ่งกว่าที่เราเคยคิดไว้เสียอีกก็เป็นได้ เพราะอ้างอิงจากงานวิจัยใหม่ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ของสหรัฐอเมริกา
เด็กประถมที่นอนน้อยกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน จะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในบริเวณสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ ความฉลาด และความเป็นอยู่ที่ดี จากเด็กที่นอน 9-12 ชั่วโมง ตามปกติ
และความเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจจะคงอยู่ได้เป็นเวลานานเลยด้วย
นักวิทยาศาสตร์พบความจริงข้อนี้จากการ ตรวจสอบข้อมูล MRI ที่รวบรวมจากเด็กอายุ 9 ถึง 10 ปี จำนวนกว่า 8,300 คน ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาองค์ความรู้สมองของวัยรุ่น
โดยพวกเขาพบว่าเด็กที่นอนหลับไม่เพียงพอในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา จะมีเนื้อสมองสีเทาในพื้นที่ของสมองซึ่งรับผิดชอบด้านความสนใจ ความจำ และการควบคุมการยับยั้งน้อยลง
เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีนิสัยการนอนหลับที่ดี
เท่านั้นยังไม่พอ การนอนน้อยในเด็กยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นด้วย
ซึ่งการค้นพบนี้ก็ทำให้นักวิจัย ถึงกับต้องออกมาย้ำถึงความสำคัญในการนอนของเด็กเล็กเลย
โดยพวกเขาได้ให้เคล็ดลับกับพ่อแม่ว่า เด็กอายุระหว่าง 6-12 ปีควรมีเวลานอน 9-12 ชั่วโมงต่อคืน และรักษากิจวัตรการนอนหลับอย่างเคร่งครัด
และหากเป็นไปได้ก็ควรหยุดการใช้งานอุปกรณ์ที่มีหน้าจอ เช่นมือถือ โทรทัศน์ หรือ คอมพิวเตอร์อย่างน้อยๆ 1 ชั่วโมงก่อนนอนนั่นเอง
ที่มา
www.thelancet.com/journals/lanchi/article/PIIS2352-4642(22)00188-2/fulltext
www.eurekalert.org/news-releases/960270
neurosciencenews.com/child-sleep-brain-development-21148/