เคยได้ยินเรื่องราวของ “หมีน้ำ” (Tardigrades) กันมาก่อนไหม นี่คือสัตว์ตัวจิ๋วขนาดเพียงราวๆ 1 มิลลิเมตร แต่กลับมีชื่อเสียงเรื่องความอึดตายยากสุดๆ สามารถทนได้ทั้งความร้อนสุดขั้วและความหนาวสุดกู่
แถมยังคืนชีพจากการถูกแช่แข็งถึง 30 ปีได้ และต่อให้มันถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศแบบไร้การป้องกันพวกมันก็รอดกลับมาได้อีก
แต่เมื่อล่าสุดนี้เองดูเหมือนว่าหมีน้ำสุดอึดของเราก็จะสร้างวีรกรรมใหม่อีกแล้ว เพราะหลังนักวิจัยอังกฤษได้ลองเอาหมีน้ำไปยัดใส่ลูกกระสุนแล้วยิงออกจากปืนดู พวกเขาก็พบว่าพวกมันสามารถเอาชีวิตรอดได้ แม้พุ่งชนเป้าหมายด้วยความเร็ว 900 เมตรต่อวินาทีเลย
การทดลองในครั้งนี้เป็นผลงานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเคนต์และมหาวิทยาลัยลอนดอนของประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Astrobiology ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2021
ซึ่งการทดลองในครั้งนี้ ก็เกิดขึ้นเพื่อหาคำตอบว่า ในตอนที่ยาน Beresheet lander ของอิสราเอลชนดวงจันทร์ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หมีน้ำที่ถูกบรรทุกไปบนยานด้วยจะยังคงรอดชีวิตอยู่หรือไม่นั่นเอง
ในการทดลองครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์จะนำหมีน้ำที่ถูกแช่แข็งจนเข้าสู่ภาวะจำศีลบรรจุลงในลูกกระสุนปืนแบบเฉพาะ ก่อนที่จะนำมันไปยิงใส่เป้าที่ทำจากทรายด้วยความเร็วที่มากขึ้นเรื่อยๆ
โดยพวกเขาได้พบว่าแม้จะชนกับเป้าหมายอย่างจัง แต่หมีน้ำก็จะสามารถรอดชีวิตจากแรงกระแทกได้สูงถึง 1.14 จิกะปาสคาล แม้ว่าร่างกายบางส่วนจะเสียหายไปก็ตาม
หากเทียบให้เห็นภาพ ในการทดลองพวกมันจะสามารถรอดจากการกระแทกเป้าหมาย ในกระสุนที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 900 เมตรต่อวินาที หรือราว 3,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยนั่นเอง
แต่แม้ตัวเลขที่ออกมานี้จะน่าทึ่งก็ตาม ดูเหมือนว่ามันก็ยังไม่น่าทึ่งมากพอที่จะทำให้หมีน้ำที่ถูกบรรทุกไปบนยาน Beresheet lander รอดชีวิตจากการพุ่งชนดวงจันทร์แต่อย่างไร
เพราะตามปกติแล้วขณะอุกกาบาตพุ่งชนโลก อุกกาบาตส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึงราวๆ 11 กิโลเมตรต่อวินาทีเลย และแม้ความเร็วในการชนดวงจันทร์ของยาน Beresheet lander อาจจะต่ำ (หรือสูง) กว่านี้ มันก็น่าจะมากกว่า 900 เมตรต่อวินาทีอยู่ดี
และแน่นอนว่าการทดลองในครั้งนี้ก็ทำให้แนวคิดที่ว่าหมีน้ำเป็นสัตว์ที่ตกลงมาบนโลกพร้อมอุกกาบาตในอดีตถูกล้มล้างไปด้วยเช่นกัน
ถึงอย่างนั้นก็ตามเราก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยอยู่ดีว่าหมีน้ำนั้น ในท้ายที่สุดแล้วก็ถือเป็นสัตว์ที่อึดทนทายาดอยู่ดี และเรื่องราวความมหัศจรรย์ของพวกมันก็อาจจะถูกค้นพบเพิ่มเติมอีกในอนาคตนี้เป็นแน่
ที่มา iflscience, bbc และ liebertpub