ในโลกของเรานั้นมีสัตว์มีพิษอยู่มากมายหลายชนิด ตั้งแต่กลุ่มที่โดนแล้วแค่คันๆ แสบร้อน ไปจนถึงกลุ่มที่มีพิษรุนแรงในระดับที่โดนแล้วตายสถานเดียว
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าเพราะอะไรกันสัตว์มีพิษเหล่านี้ มันถึงไม่ตายเพราะพิษของตัวเองไปเสียก่อน ทั้งๆ ที่สัตว์บางตัวถึงกับเก็บพิษระดับสังหารช้างได้ไว้ในตัวเลย
เพื่อที่จะหาคำตอบของคำถามนี้เราคงต้องอธิบายไว้ในที่นี้ว่าสัตว์มีพิษหลายชนิด โดยเฉพาะกลุ่ม “สัตว์ที่พิษออกมา” (Venomous) นั้น จริงๆ แล้วจะใช้วิธีเลี่ยงที่จะโดนพิษของตัวเองเป็นหลัก
อย่างในกรณีของงูพิษ พิษของพวกมันจะออกฤทธิ์โดยการผ่านทางกระแสเลือดเท่านั้น ทำให้ในกรณีที่มันกินพิษตัวเอง เอนไซม์ในน้ำลายและกระเพาะอาหาร จะสามารถย่อยพิษทิ้งไปได้ แถมปกติพิษก็จะถูกเก็บไว้ในถุงเก็บพิษโดยเฉพาะด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกนัก
กลับกันสัตว์ที่ทำให้แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ยังแปลกใจส่วนมากจะเป็นสัตว์ที่สะสมพิษไว้ในร่างกายเอาไว้ป้องกันตัว (Poisonous) โดยเฉพาะกบมากกว่า เพราะสัตว์ชนิดนี้ในบางครั้งจะไม่มีพิษแต่ต้นด้วยซ้ำ
ซึ่งทำให้น่าแปลกใจมากกว่าทำไมพวกมันไม่ตายเพราะพิษในตัวเอง
เรื่องราวนี้ได้รับการให้คำตอบ ในงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of General Physiology เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2021 ว่า สัตว์ที่สะสมพิษไว้ในร่างกายตัวเองนั้น โดยมากมายจะมีวิธีการป้องกันพิษอยู่ 3 รูปแบบหลักๆ ประกอบด้วย
1. ใช้การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมเปลี่ยนรูปร่างของโปรตีนเป้าหมายของสารพิษเล็กน้อย
ด้วยความที่พิษของสัตว์ในตระกูลกบหลายๆ ครั้งจะใช้พิษขัดขวางการขนส่งโซเดียมไอออนเข้าและออกจากเซลล์ ซึ่งเป็นในหน้าที่ทางสรีรวิทยาที่สำคัญที่สุดในร่างกาย ผ่าน “ประตู” ที่ทำจากโปรตีนบางชนิด
ดังนั้นเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้พิษส่งผลกับตัวเอง กบเหล่านี้จึงใช้วิธีปรับลักษณะของโปรตีนเล็กน้อยทำให้พิษไม่สามารถเกาะ “ประตู” เพื่อรบกวนการขนส่งโซเดียมไอออนได้ และทำให้มันปลอดภัยจากพิษตัวเอง
2. ใช้ลักษณะของร่างกายขับพิษทิ้งออกไปทั้งหมด
นี่เป็นวิธีที่สัตว์นักล่าที่มีเหยื่อเป็นสัตว์มีพิษมักจะใช้ (แต่บางครั้งสัตว์มีพิษก็ใช้เอง) โดยมันเป็นวิธีการที่ร่างกายสัตว์แต่ละตัวจะมีการปฏิบัติต่างๆ กันไป และยังเรามีข้อมูลไม่มากนัก
แต่หากนึกไม่ออกมันก็น่าจะคล้ายๆ การที่เราทานอะไรไม่ดีเข้าไปแล้วร่างกายของเราขับมันออกมาเป็นอาเจียน (และอุจจาระ) เพียงแต่หากสัตว์พวกนี้กินพิษเข้าไป พวกมันจะสามารถย่อยแค่ตัวเหยื่อ และขับพิษจากตัวได้โดยไม่ย่อยมันนั่นเอง
3. ใช้โปรตีนพิเศษกักขังพิษเอาไว้
นี่คือวิธีการที่พบได้ในกบพิษในกลุ่ม Phyllobates โดยพวกมันมีความพิเศษตรงที่ตอนเกิดมามันจะเป็นกบที่ไม่มีพิษ และไม่มีการกลายพันธุ์ของโปรตีนเหมือนกบในข้อหนึ่ง
กลับกันกบตัวนี้จะมีสิ่งที่กลุ่มโปรตีนที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ฟองน้ำโปรตีน” อยู่ในตัว โดยมันจะใช้โปรตีนดังกล่าวดูดพิษและกักมันเอาไว้ในร่างกาย จนพิษที่มันกินกลายเป็นพิษของมันนั่นเอง
แต่ทั้งนี้เองไม่ว่าสัตว์มีพิษที่เราเจอจะเป็นสัตว์อะไรประเภทไหน วิธีการที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับมนุษย์อย่างเรา ก็คงไม่พ้นการอย่าไปยุ่งกับมันตั้งแต่ต้นนั่นเอง
ที่มา livescience, science และ ncbi