สำหรับหนุ่มๆ หลายๆ คน การถูก “เตะเข้าที่หว่างขา” ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็คงจะถือเป็นดั่งฝันร้ายที่หลายๆ คนคงไม่อยากให้เกิดขึ้นนัก เพราะอาการบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะนั้นมันถือเป็นสิ่งที่เจ็บปวดขึ้นขนาดมันจะตายให้ได้ก็คงไม่ผิดนัก
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าการถูกเตะเข้าที่หว่างขา หรือการที่น้องชายได้รับการกระแทกแรงๆ นั้นจะทำให้เราเสียชีวิตได้จริงๆ หรือไม่ เพราะแม้จะไม่น่าเชื่อก็ตาม แต่ดูเหมือนจะมีคนพยายามหาคำตอบนี้มากกว่าที่คิดเยอะเลย
คำตอบของคำถามที่ว่าการอาการบาดเจ็บที่อัณฑะทำให้คนตายได้ไหมนั้น สามารถสรุปสั้นๆ ว่า “เกิดขึ้นได้จริง” แต่ก็ “เกิดขึ้นได้ยาก” เช่นกัน
โดยหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการระบุว่ามีคนเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะ ถูกระบุว่าเกิดขึ้นในปี 1843 เมื่อมีคนในเยอรมนีถูกบีบลูกอัณฑะอย่างรุนแรง ส่งผลให้เขาล้มลงกับพื้น มีอาการชักอย่างรุนแรง และเสียชีวิต
อย่างไรก็ตามปกติแล้ว อาการบาดเจ็บที่อวัยวะเพศ จะแทบไม่มีโอกาสเป็นอันตรายถึงชีวิตเท่าไหร่นัก เพราะจากรายงานของวารสาร International Journal of Medical Toxicology and Forensic Medicine ตามปกติ
“อวัยวะเพศชายจะมีแนวโน้มได้รับบาดเจ็บน้อย เนื่องจากมันเป็นโครงสร้างทางกายวิภาคที่เคลื่อนที่ได้” หากคุณถูกต่อยที่องคชาตหรือลูกอัณฑะ มันสามารถลดการกระแทกลงได้ โดยการ “หมุนหรือขยับ” ให้พ้นทาง
มันจึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนักที่จะบอกว่าการเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บที่อวัยวะเพศส่วนใหญ่นั้น จะไม่เกิดขึ้นจากการโดนทำร้ายในทันที แต่มาจากอาการแทรกซ้อนหรือการดูแลบาดแผลไม่ดีมากกว่า
อย่างในปี 2016 เอง ก็เคยมีกรณีศึกษาหนุ่มวัย 18 ปี ได้รับบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะขณะขี่จักรยาน แต่ก็ดูจะไม่เป็นอะไรมาก กระทั่งราวๆ สองเดือนหลังจากเหตุการณ์
เขากลับมีอาการปวดรุนแรงจนเสียชีวิตด้วย “กลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย” (systemic inflammatory response syndrome) ซึ่งเป็นการที่ร่างกายมีการตอบสนองที่มากเกินไปต่อการบาดเจ็บ หรืออาการทางการแพทย์อื่นๆ
แต่แม้จะบอกว่าอาการบาดเจ็บ เช่นนี้มักไม่อันตรายถึงชีวิต เชื่อว่าก็คงมีผู้ชายไม่กี่คนนักที่อยากให้ของรักของตัวเองบาดเจ็บหรือวันหนึ่งก็ใช้การไม่ได้ขึ้นมา
ดังนั้นหากมีอาการบาดเจ็บที่อวัยวะเพศขึ้นมา การขอคำแนะนำจากแพทย์ก็คงจะถือเป็นทางเลือกที่ดี แม้จะเป็นเรื่องที่หลายคนอาจรู้สึกว่าน่าอายก็ตาม
ที่มา
www.iflscience.com/health-and-medicine/can-you-die-from-getting-kicked-right-in-the-testicles/
www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2490296/
pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31613449/
journals.sbmu.ac.ir/ijmtfm/article/view/IJMTFM-10447