เชื่อว่าในยุคปัจจุบัน คงจะไม่มีใครอีกแล้วที่ไม่เคยเห็นยาเม็ดสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ยาแก้ปวด แก้อักเสบ หรือยาพารา
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมยาส่วนใหญ่ของโลกถึงมักจะมีบรรจุภัณฑ์เป็นแผงๆ ที่ทำให้เราต้องแกะยาออกมาทีละเม็ดกัน? ทำไมบริษัทยาส่วนใหญ่ถึงไม่เลือกที่จะบรรจุยาในขวดยาไปเลย? ทั้งๆ ที่มันน่าจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการหุ้มยาทีละเม็ด
เชื่อหรือไม่ว่าการตัดสินใจเช่นนี้มีที่มามาจากคดีฆาตกรรมเมื่อราว 40 ปีก่อน และเราก็ยังจับตัวคนร้ายของคดีที่ว่าไม่ได้เสียด้วย
เรื่องราวของคดีฆาตกรรมที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1982 เมื่อในพื้นที่เมืองชิคาโกของสหรัฐอเมริกา ได้เกิดเหตุ กลุ่มคน 4 คนในพื้นที่ต่างๆ กัน 3 แห่งได้แก่
1. เด็กสาววัย 12 ปีชื่อ แมรี่ เคลเลอร์แมนในแถบชานเมือง
2. พนักงานไปรษณีย์ วัย 27 ปีจากอาร์ลิงตันไฮทส์ ชื่อ อดัม เจนัส
3. ครอบครัวของ อดัม เจนัส ซึ่งประกอบด้วย สแตนลีย์ เจนัส ผู้เป็นพี่ชาย และ เทเรซ่า เจนัส น้องเขยของเขา
ทั้งหมดได้เสียชีวิตอย่างมีปริศนาจากพิษไซยาไนด์ หลังจากที่พวกเขาทานยาพาราเซตามอลของแบรนด์ยาชื่อดังอย่าง “ไทลินอล” ที่ผลิตโดย “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” เข้าไป
ในตอนแรกนั้นทางตำรวจไม่ได้ มองการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นว่ามาจากพิษในตัวยาโดยตรง แต่เป็นเหตุผลต่างๆ กันอย่างอาการหัวใจวาย หรือรับยาเกินขนาดเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามในหลายวันต่อมาตำรวจกลับพบว่ามีผู้เสียชีวิตในรูปแบบนี้อีกถึง 3 รายโดยทั้งหมดล้วนแต่มียาพาราเซตามอลไว้ในครอบครอง
และขวดยาส่วนใหญ่ก็มีกลิ่นอัลมอนด์ อันเป็นลักษณะของไซยาไนด์ด้วย
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้แน่นอนว่าทำให้สินค้าจากไทลินอลและจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันต้องถูกทำการตรวจสอบอย่างละเอียดในทันที อย่างไรก็ตามทางตำรวจกลับพบว่าสินค้าของบริษัทยาเหล่านี้ ไม่ได้มีขั้นตอนการผลิตใดๆ ที่น่าจะเป็นปัญหาเลย
กลับกันตัวยาที่เหยื่อส่วนมากทานเข้าไปนั้น กลับมีร่องรอยของการถูกดัดแปลงหลังจากออกจากมือผู้ผลิต ซึ่งหากบวกกับการที่เหตุแบบนี้เกิดแค่ในชิคาโก
ทางตำรวจก็คาดว่านี่น่าจะเป็นการลงมือของผู้ไม่หวังดี ที่แอบเอายาออกจากชั้นวางขาย ฉีดไซยาไนด์ลงในแคปซูลเจลก่อนปิดผนึกบรรจุภัณฑ์อีกครั้ง และวางมันกลับลงไปบนชั้น
น่าเสียดายที่ด้วยลักษณะการลงมือแบบนี้ ถือว่าตามจับได้ยากมากในสมัยนั้น และแม้ต่อมาทางจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันจะได้รับจดหมายขู่เอาเงินแลกกับการหยุดฆ่าคน ที่เชื่อว่ามาจากผู้ลงมือก็ตาม
สุดท้ายแล้วเมื่อผู้ส่งจดหมายโดนจับทางตำรวจก็พบว่าเขาแค่อาศัยจังหวะข่าวไม่ดีเพื่อรีดไถเงินจากจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันเท่านั้น ไม่ใช่คนที่ลงมือผสมไซยาไนด์ลงในยาจริงๆ
(ชายคนนี้ต่อมาถูกตัดสินโทษข้อหาขู่กรรโชกทรัพย์และต้องรับโทษจำคุก 20 ปี)
เพื่อไม่ให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกตลอดช่วงการสืบสวนและหลังจากคดีนี้ บริษัทหลายแห่งจึงปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ยาของตัวเองใหม่
ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุยาแบบ 3 ชั้นในกล่องปิดกาว มีซีลฟอยล์ และแหวนพลาสติกรอบคอขวด การหันไปใช้ยาแบบที่ไม่เป็นแคปซูลเพื่อให้ยากต่อการฉีดสารไม่พึงประสงค์เข้าไป หรือการหันไปใช้แผงยาเพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตว่ายาถูกแกะหรือไม่
ไม่นานนักความพยายามเหล่านี้ก็ถูกนำไปออกแบบเป็นกฎหมายบรรจุภัณฑ์ยาของทางองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ และกลายเป็นมาตรฐานที่ถูกใช้ต่อไปทั่วโลก
เรียกได้ว่าแม้จะจับคนร้ายไม่ได้ก็ตาม แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการยาเลยจริงๆ
ที่มา iflscience และ pbs