ว่ากันว่าโลกของเรามีฮีโร่อยู่มากมายหลายคน และไม่ว่ายุคไหนๆ คนเราก็จะมีเรื่องราวของเหล่าวีรบุรุษผู้ช่วยเหลือผู้คนอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะในสงคราม หรือแค่ในเวลาที่ผู้คนตกทุกข์ได้ยาก
ถึงอย่างนั้นก็ตามเรื่องราวของฮีโร่ก็ใช่ว่าจะมีความยิ่งใหญ่เท่ากันเสมอไป เพราะในขณะที่คนบางคนอาจจะเป็นฮีโร่ได้จากการช่วยเหลือคนเพียงกลุ่มเดียว ฮีโร่อีกหลายคนก็อาจจะได้ชื่อนี้มาจากการกู้โลกทั้งใบเลย
เรื่องราวทั้ง 5 ต่อไปนี้คือเรื่องราวของเหล่าฮีโร่ที่ทำผลงานยิ่งใหญ่ระดับโลกเหล่านั้น เพราะต่างจากวีรบุรุษทั่วๆ ไป หากไม่มีพวกเขาแล้วโลกของเราก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้เลยก็ได้
1. Stanislav Yevgrafovich Petrov
เรามาเริ่มกันจากชายผู้ได้ชื่อว่า “The Man Who Saved the World” กับนายทหาร Stanislav Petrov
ชายคนนี้เป็นหนึ่งในทหารอากาศแห่งสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น ซึ่งรับหน้าที่ค่อยฟังสัญญาณตรวจจับขีปนาวุธและรายงานมันให้กับเบื้องบนเพื่อตัดสินใจต่อไปอีกที
โดยผลงาน “การช่วยโลกทั้งใบ” ของชายคนนี้เกิดขึ้นในวันที่ 26 กันยายน 1983 เมื่อ ดาวเทียมของโซเวียตสามารถจับสัญญาณเจอขีปนาวุธจำนวนมากถูกยิงมาจากฝั่งสหรัฐอเมริกาได้
แน่นอนว่าด้วยหน้าที่ของ Stanislav เข้าจะต้องรายงานเรื่องนี้แก่เบื้องบน ซึ่งด้วยสถานการณ์แล้วมันก็คงจะไม่แปลกเลยที่โซเวียตจะยิงขีปนาวุธสวนและนำโลกไปสู่สงครามโลกครั้งที่สาม
แต่แทนที่จะแค่ทำงานตามหน้าที่ Stanislav ในเวลานั้น กลับตัดสินใจว่าสัญญาณตรวจจับที่เขาพบมันเป็นแค่ความผิดพลาดของระบบ และแจ้งเรื่องความผิดปกติของระบบต่อเบื้องบนแทนที่จะเป็นการพบขีปนาวุธ
ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเอามากๆ เพราะไม่เพียงแต่ในวันนั้นจะไม่มีการยิงขีปนาวุธจากฝั่งสหรัฐอเมริกาจริงๆ
แต่ในภายหลังโซเวียตยังพบด้วยว่าสัญญาณที่พบ แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่ความผิดพลาดของดาวเทียม ที่เห็นเงาสะท้อนบนก้อนเมฆเป็นขีปนาวุธ แสดงให้เห็นถึงข้อผิดพลาดในระบบเตือนภัยล่วงหน้าของโซเวียตได้เป็นอย่างดีด้วย
ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องค่อนข้างน่าเศร้าเลยทีเดียวที่เรื่องราวของชายคนนี้ต่อมาก็ถูกโลกลืมไปเนื่องจากการกระทำของเขาไม่ได้รับการบันทึกลงในรายงาน จนเจ้าตัวเกษียณอายุไปด้วยยศแค่นาวาอากาศโท แถมต้องใช้ชีวิตหลายปีไปกับการปลูกมันฝรั่งประทังชีพ
และกว่าที่เรื่องราวของเขา จะกลายเป็นที่รู้จักของโลกจริงๆ มันก็ในช่วงปี 1998 โน้นเลย
2. Vasili Alexandrovich Arkhipov
หากเราถามว่า Vasily Arkhipov ช่วยโลกอย่างไร? เชื่อหรือไม่ว่าคำตอบก็คงจะเป็น “ด้วยการไม่ทำอะไร”
เรื่องราวของ Vasily Arkhipov เกิดขึ้นในช่วงความขัดแย้งที่ประเทศคิวบาอีกหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญช่วงสงครามเย็น ซึ่งในเวลานั้นเขาได้รับหน้าที่เป็นรองกัปตันของเรือดำน้ำ B-59 ที่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของฝ่ายโซเวียต
ในวันที่ 27 ตุลาคม ปี 1962 ได้เกิดเหตุเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐถูกยิงตกในคิวบา ส่งผลให้สถานการณ์ของประเทศเข้าสู่ช่วงพร้อมเข้าสู่การรบทุกเมื่ออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
และมันก็เป็นในวันนั้นเอง ที่ด้วยเหตุผลบางอย่างเรือดำน้ำ B-59 ได้เกิดเข้าใจผิดว่าสงครามระหว่างสหรัฐและโซเวียตเริ่มต้นขึ้นแล้ว (หลายแหล่งข้อมูลบอกว่าเข้าใจผิดเพราะถูกพิฆาตของสหรัฐโจมตี)
ในระหว่างความโกลาหลนั่นเองกัปตันเรือ B-59 ได้ตัดสินใจที่จะยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่ตัวเองมี ซึ่งตามระเบียบแล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทหาร 3 นายบนห้องควบคุม
นี่เป็นช่วงเวลาอันตึงเครียดอย่างมากเพราะหากการยิงขีปนาวุธเกิดขึ้นจริงๆ โลกจะต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สามเป็นแน่ และบนเรือเองนายทหาร 2 นายจาก 3 นายก็เห็นชอบกับการยิงขีปนาวุธแล้วด้วย
นับว่าเป็นโชคดีมากที่ Vasily Arkhipov ซึ่งเป็นนายทหารคนสุดท้าย คัดค้านการยิงหัวรบอย่างเต็มที่
โดยเขายืนกรานว่าอย่างไรก็ต้องนำเรือขึ้นไปตรวจสอบความจริงก่อน และขอร้องให้กัปตันนำเรือขึ้นเหนือผิวน้ำ แม้มันจะเป็นการยอมจำนนต่อสหรัฐ
การกระทำของเขาทำให้สุดท้าย สงครามโลกครั้งที่ 3 จึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่หลายๆ คนกลัว และ Vasily Arkhipov เองก็ได้รับคำชื่นชมอย่างสูงจากทุกฝ่าย ในฐานะวีรบุรุษผู้หยุดสงครามโลก
เขาจากไปอย่างสงบในปี 1998 ด้วยวัย 72 ปีในประเทศรัสเซียบ้านเกิดของเขา และแม้ร่างกายจะสูญสลาย แต่การตัดสินใจคัดค้านครั้งนั้น ก็ตราตรึงอยู่ในประวัติศาสตร์ตลอดไปเลย
3. Edward Jenner
“วีรบุรุษไม่จำเป็นต้องมาจากสงครามและความขัดแย้งเสมอไป” ไม่แน่ว่าคำคำนี้คงจะเป็นคำพูดที่เหมาะสมกับคนอย่าง Edward Jenner มากๆ เลยก็ได้
Edward คือนายแพทย์ชาวอังกฤษผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โรคไข้ทรพิษระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ตั้งแต่ในปี 1792 เป็นต้นมาชายคนนี้ก็เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับโรคไข้ทรพิษเพื่อที่จะพยายามทำการรักษามัน
และก็เป็นในช่วงนี้เองที่เขาสังเกตเห็นว่า คนไข้ของเขาที่เป็นโรคฝีดาษวัวที่ป่วยเป็นโรคฝีดาษวัว ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีแผลพุพองตามตัวนั้น จะไม่มีใครเลยที่เป็นโรคไข้ทรพิษ
ความเกี่ยวข้องนี้ทำให้ Edward เกิดความคิดว่า โรคฝีดาษวัวบางชนิดอาจสามารถป้องกันคนไม่ให้เป็นไข้ทรพิษได้ ดังนั้นเขาจึงเริ่ม นำน้ำหนองในแผลของคนไข้โรคฝีดาษวัวมาทำเป็น วัคซีนโดยทำให้เชื้ออ่อนแอลง
นั่นทำให้ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1796 Edward ก็ประสบความสำเร็จในการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษ วิธีการรักษาซึ่งในเวลาต่อมาคาดกันว่าช่วยชีวิตคนไว้มากกว่า 530 ชีวิตเลย
4. Alan Turing
สำหรับคนอย่าง Alan Turing แล้ว เขาเป็นวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ ผู้เคยช่วยชีวิตผู้คนหลายล้านให้รอดพ้นจากไฟสงคราม แต่ถึงอย่างนั้นชีวิตเขากลับแทบไม่ได้มีชื่อเสียงอย่างที่ควรเพียงเพราะเขาเป็นชายรักชายเท่านั้น
ชายชื่อ Alan Turing เป็นวิทยาศาสตร์อัจฉริยะผู้มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์เป็นเลิศ เขาจบการศึกษาเกียรตินิยมด้านคณิตศาสตร์จากคิงส์คอลเลจ และมีประสบการณ์อย่างมากในการคิดค้นกลไกด้านการคำนวณ
ความสามารถทำให้เขาได้เข้ามาร่วมทีม GC&CS ซึ่งเป็นทีมไขรหัสสัญญาณของฝ่ายนาซีเยอรมัน
โดยในเวลานั้นอุปกรณ์เข้ารหัสของนาซีหรือ “เครื่องอินิกมา” เรียกได้ว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่งของฝั่งพันธมิตรเลยก็ว่าได้
เพราะทุกครั้งที่มีการพิมพ์ตัวอักษรด้วยเครื่องมือชิ้นนี้ ตัวอักษรที่พิมพ์จะถูกนำไปสลับเป็นตัวอักษรอีกตัวหนึ่งอย่างละเอียดซับซ้อนจนแทบไม่มีใครที่สามารถไขปริศนาของเจ้าเครื่องมือนี้ได้
แต่แล้วตั้งแต่เมื่อ Alan Turing เริ่มเข้าไปถอดรหัสเครื่องมือนี้อย่างจริงจัง ไม่นานนัก พวกเขาก็พบว่าทางนาซีที่มักสื่อสารกันด้วยคำว่า “Heil Hitler” อยู่บ่อยๆ ซึ่งต่อมานำไปสู่การสร้างเครื่องถอดรหัสอินิกมาแบบสมบูรณ์
ส่งผลให้ทางกองทัพสัมพันธมิตรสามารถดักจับข้อมูลสำคัญๆ ของนาซีได้หลายต่อหลายอย่าง ถึงขนาดที่เชื่อกันว่าหากไม่มีผลงานของคุณ Alan Turing สงครามโลกครั้งที่สองก็อาจจะจบช้าลงถึง 1-3 ปีเลย
นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าผลงานของคุณ Alan Turing อาจช่วยชีวิตคนไว้มากถึง 14-21 ล้านคน
แถมหลังจากสงครามจบชายคนนี้ก็ยังกลายเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์และบุกเบิกคอมพิวเตอร์แบบที่เราใช้กันรุ่นแรกๆ ด้วย
มันจึงถือเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่ชายคนนี้ต้องใช้ชีวิตที่เหลือไปกับการถูกเหยียดเพียงเพราะเขาเป็นชายรักชาย จนต้องจบชีวิตตัวเองลงด้วยการฆ่าตัวตายไปในปี 1954 ด้วยวัยเพียง 42 ปีเท่านั้น
5. Liquidators และ First Responders
ต่างไปจากฮีโร่ข้างบน Liquidators ไม่ใช่คนคนเดียวแต่เป็นกลุ่มคน ผู้ซึ่งเข้าไปในเชอร์โนบิล หลังเหตุหายนะในปี 1986 และทำให้เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ไม่เลวร้ายไป “ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่”
ว่ากันว่าในบรรดา Liquidators ร่วม 600,000 ชีวิตที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปในพื้นที่เชอร์โนบิล โดยเฉลี่ยแล้วล้วนแต่จะได้รับรังสีถึงราว120 มิลลิซีเวิร์ตสูงกว่ารังสีจากเครื่องเอกซเรย์หน้าอกกว่าพันเท่า
ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ Liquidators ร่วม 40,000 คนจะต้องกลายเป็นผู้เสียสละไปในการทำงาน และอีกกว่า 70,000 ชีวิตต้องพิการหรือเจ็บป่วยจากพิษรังสี
อย่างไรก็ตามแม้ในบรรดา Liquidators เอง พวกเขาก็กลุ่มที่มีผลงานสำคัญกว่าเพื่อนๆ เช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้พวกเขาเป็นที่รู้จักกันในนาม “First Responders” คนกลุ่มแรกที่เข้าไปในโรงไฟฟ้าตอนเกิดเหตุ
โดยเฉพาะกลุ่มชาย 3 คน ที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใครมาจากไหน
เรื่องราวของพวกเขาเกิดขึ้นในตอนที่เครื่องปฏิกรณ์ 4 ของเชอร์โนบิลกำลังเริ่มละลายผ่านพื้นของโรงไฟฟ้าหลังเหตุหายนะ
ในเวลานั้นเจ้าหน้าที่โรงงานได้ทราบว่า หากโลหะรังสีจากเครื่องปฏิกรณ์ที่มีความร้อนสูงไหลลงใส่ที่เก็บน้ำใต้เครื่องปฏิกรณ์ ไอน้ำที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดการระเบิดขนาดใหญ่ขึ้นด้วยแรงระเบิดราวๆ 3-5 เมกะตัน
แรงกว่าระเบิด Little Boy ที่ฮิโรชิม่าร่วม 200 เท่า ซึ่งมากพอที่จะทำให้ทุกสิ่งในระยะ 340 กิโลเมตรหายไป และส่งรังสีจากโรงงานลอยไปไกลถึง ครึ่งทวีปยุโรปได้เลย
เรื่องราวหลังจากนี้ถูกเล่าออกมาในรูปแบบต่างๆ กันไป แต่โดยรวมๆ แล้ว ชายสามคนจากกลุ่ม First Responders ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งนักดับเพลิงตำรวจหรือวิศวกร ได้อาสาที่จะลงไปเปิดวาล์วไล่น้ำออกไปจากด้านใต้ของเครื่องปฏิกรณ์
นี่ถือเป็นการกระทำที่เสี่ยงมากๆ เพราะที่ด้านใต้เครื่องปฏิกรณ์ได้เริ่มมีน้ำท่วมแล้ว แถมที่นั่นก็มีปริมาณรังสีสูงถึงขั้นที่อาจจะทำให้คนตายได้เลย
ถึงอย่างนั้นก็ตามชายสามคนนี้ก็ยังสามารถเข้าไปเปิดวาล์วน้ำได้สำเร็จ และทำให้หายนะที่เชอร์โนบิลจบลงไปโดยที่ไม่กลายเป็นหายนะที่เปลี่ยนรูปร่างของแผนที่โลกทั้งทวีปเสียก่อน
น่าเสียดายที่ด้วยการปิดข่าวของโซเวียตในเวลานั้นทำให้มันเป็นเรื่องยากมากที่เราจะระบุตัวได้ว่าคนที่อาสาลงไปปิดวาล์วน้ำตกลงแล้วเป็นอย่างไรต่อไปกันแน่
แต่จากปริมาณรังสีที่พวกเขาน่าจะได้รับแล้ว มันก็มีความเป็นไปได้สูงเลยที่ ชายทั้งสามคนนี้จะไม่ชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว
เรียบเรียงโดย #เหมียวศรัทธา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก psiloveyou, thetimes, posttoday, mgronline และ theguardian