เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินเรื่องราวของฝูงบินโด่งดังแห่งกองทัพญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างฝูงบิน “คามิกาเซะ” กันมาบ้าง
นี่คือกองกำลังจู่โจมพิเศษซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1944 ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีแนวโน้มจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงคราม และขึ้นชื่อเรื่องความบ้าระห่ำนำเครื่องบินพุ่งเข้าชนเป้าหมาย (ซึ่งมักเป็นเรือรบ) แบบสละชีวิต ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่หวาดกลัวมากๆ ของฝั่งพันธมิตร
ด้วยลักษณะการรบเช่นนี้ เราก็คงไม่คิดว่าจะมีนักบินคามิกาเซะที่มีโอกาสได้กลับมาจากสนามรบเป็นแน่
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากนักบินคามิกาเซะเกิดรอดจากการรบมาได้จริงๆ พวกเขาจะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตต่อไปหรือไม่? และพวกเขาจะถูกคนรอบข้างมองอย่างไร? ในวันนี้เราจะไปชมเรื่องราวอีกด้านของนักบินคามิกาเซะกันครับ
เรื่องราวของนักบินที่รอดชีวิตจากฝูงบินคามิกาเซะนั้น แม้จะฟังดูไม่น่าเชื่อก็ตามแต่ส่วนมากแล้วก็ถูกเล่าจากนักบินที่รอดชีวิตมาโดยตรง
โดยพวกเขามักจะเป็น นักบินที่เข้ารับการฝึกแต่ยังไม่ทันได้ขึ้นบินสงครามก็จบไปก่อน กับนักบินที่เริ่มขึ้นออกปฏิบัติการแล้วแต่กลับรอดกลับมาได้โดยทำภารกิจไม่สำเร็จ
คนกลุ่มแรกนั้นโดยมากแล้วจะมีชีวิตไม่ต่างกับทหารผ่านศึกที่จงรักภักดีมากๆ เท่าไหร่นัก คือพวกเขามักจะรู้สึกแย่ที่ไม่ได้เสียสละตัวเองเพื่อประเทศ และรู้สึกว่าตนทำให้ทุกคนผิดหวัง แต่ก็ไม่ได้ถูกปฏิบัติที่แย่อะไรนัก
ปัญหาคือคนกลุ่มที่สองต่างหาก
แน่นอนว่าหากเอาเครื่องพุ่งชนเป้าหมายสำเร็จมันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่นักบินจะรอดกลับมาจากปฏิบัติการ ดังนั้นนักบินที่เริ่มขึ้นออกปฏิบัติการแล้วแต่ไม่ได้จบชีวิตตัวเอง ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. กลุ่มที่ออกปฏิบัติการแล้วต้องพบกับปัจจัยภายนอกจนไม่สามารถทำภารกิจได้ เช่นเครื่องบินขัดข้องกลางทางหรืออากาศไม่เป็นใจ
2. กลุ่มที่ออกปฏิบัติการแล้ว และเครื่องบินก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่กลับไม่กล้าพอที่จะจบชีวิตตัวเองจริงๆ
คนกลุ่มแรกนั้นตามปกติแล้วหากยืนยันได้ว่าพวกเขากลับมายังฐานทัพเพราะเหตุจำเป็นจริงๆ พวกเขาจะไม่ถูกลงโทษใดๆ และแค่ต้องเตรียมตัวออกปฏิบัติการใหม่ในภายหลังเท่านั้น
ในขณะที่สำหรับกลุ่มที่สองหากพวกเขากลับไปยังฐานทัพพวกเขาจะต้องถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้ขลาด ทำให้ตระกูลตัวเองเสียชื่อเสียง และลงโทษอย่างรุนแรงทั้งทางกายและทางใจ
ถึงอย่างนั้นก็ตามด้วยความที่ญี่ปุ่นในเวลานั้นเริ่มจะต้องพึ่งพาทุกอย่างที่หาได้ การลงโทษนักบินเหล่านี้จะจบอยู่ในระดับที่พวกเขาสามารถขึ้นบินได้อีกครั้งในวันต่อๆ ไป เว้นเสียแต่ว่านี่คือ “การบินครั้งสุดท้าย” ของนักบินแล้ว
การบินครั้งสุดท้ายที่ว่านี้หมายถึงเพดานจำกัดที่นักบินคามิกาเซะแต่ละคนจะสามารถกลับมายังฐานทัพได้โดยที่ทำภารกิจไม่สำเร็จ โดยนักบินแต่ละคนจะสามารถขึ้นบินได้ทั้งหมด 9 ครั้ง
และหากจำนวนนี้หมดลงแต่นักบินยังคงกลับมาฐานทัพอีก พวกเขาจะถูกประหารชีวิตในฐานะคนขี้ขลาดในที่สุด
แน่นอนว่านับกันจริงๆ แล้วมีนักบินไม่มากนักที่จะกลับมายังฐานบ่อยมากพอที่จะถูกประหารชีวิตในรูปแบบนี้ เพราะการฝึกของนักบินคามิกาเซะ โดยพื้นฐานแล้วล้วนแต่จะออกแบบมาให้นักบินหนุ่มเลือกที่จะทิ้งชีวิตตัวเองทั้งสิ้น
พวกเขาจะถูกเข้าเยี่ยมชมการฝึกจากจักรพรรดิฮิโรฮิโตะโดยตรง ถูกบอกให้เขียนจดหมายลาตายถึงที่บ้าน ต้องบินกันไปเป็นกลุ่มเพื่อกดดันไม่ให้ใครเปลี่ยนใจ แถมในแหล่งข้อมูลบางแหล่งยังถึงขั้นบอกว่า
เครื่องบินของนักบินเหล่านี้มีน้ำมันมากพอแค่การบินเที่ยวเดียวเท่านั้นเลยด้วย
ไม่ว่าจะทางไหนเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อเราพูดถึงฝูงบินคามิกาเซะคนส่วนใหญ่ก็คงคิดว่านักบินของฝูงบินเหล่านี้คงจะไม่มีใครที่มีโอกาสได้รอดชีวิตกลับมานัก
และนั่นก็ทำให้เหล่านักบินที่รอดชีวิตมาจากฝูงบินนี้จริงๆ มักจะกลายเป็นบุคคลที่ถูกโลกลืมไปได้ไม่ยากเลย
ที่มา theguardian และ historyofyesterday