เคยคิดกันเล่นๆ ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากวันหนึ่งจู่ๆ โลกเราก็กลายเป็นดั่ง “ยูโทเปีย” สถานที่อันแสนสมบูรณ์แบบที่คนเราไม่ต้องทำอะไรก็มีกิน สามารถใช้ชีวิตสบายๆ คิดว่าที่แบบนั้นจะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตแบบไหนบ้าง?
นั่นเพราะย้อนกลับไปในช่วงปี 1970 เราก็เคยมีนักวิทยาศาสตร์อยู่กลุ่มหนึ่งพยายามที่จะหาคำตอบของคำถามนี้ด้วยการทดลองกับหนูมาก่อนแล้ว… และผลของยูโทเปียในเวลานั้นก็กลายเป็นดั่ง “วันสิ้นโลก” เลยด้วย
นี่คือเรื่องราวของงานวิจัยที่ชื่อว่า “Universe 25” การทดลองที่จัดขึ้นโดยคุณ John B Calhoun นักชาติพันธุ์วิทยา และนักวิจัยด้านพฤติกรรมชาวอเมริกัน
โดยในเวลานั้น เขาและทีมงานได้ ทดลองสร้างสิ่งแวดล้อมปิดที่ราวกับเป็นยูโทเปียของหนูขึ้น ด้วยการนำพวกมันไปอาศัยในพื้นที่ทดลองขนาดใหญ่ ซึ่งเหล่าหนูจะสามารถกินอาหารแบบไร้ขีดจำกัดจาก ท่อส่งอาหารและน้ำ 16 ท่อ
แถมยังมีรังพร้อมอยู่อาศัย มีการรักษาอุณหภูมิที่ 20 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่หนูชอบที่สุดตลอดเวลา และที่สำคัญภายในยูโทเปียแห่งนี้ ไม่มีนักล่าใดๆ ที่จะเข้ามาทำอันตรายเหล่าหนูข้างในเลยด้วย
แน่นอนเป็นอย่างที่ทุกคนคงจะพอเดากันได้ คือในช่วงต้นของการทดลองหนู 8 ตัวที่ถูกนำมาปล่อยนั้นสามารถใช้ชีวิตในยูโทเปียแห่งนี้ได้แบบไม่มีปัญหาอะไรนัก
พวกมันใช้เวลาที่ตามปกติจะหาอาหารหรือที่พักไปกับการผสมพันธุ์ จนทุกๆ 55 วันประชากรหนูในยูโทเปียก็มักจะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวเสมอๆ และตัวเลขของหนูในรังเองก็พุ่งทะยานจากเลขหลักเดียวไปเป็นหลักร้อยในเวลาสั้นๆ
อย่างไรก็ตามเมื่อพวกหนูมีจำนวนได้ราวๆ 620 ตัว ยูโทเปียแห่งนี้ก็เริ่มมีปัญหาขึ้นจนได้ ไม่ใช่เพราะการขาดน้ำขาดอาหาร แต่เป็นการที่หนูนั้นเริ่มมีการแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งมักไม่ถูกกัน
ในขณะที่หนูซึ่งเข้ากับกลุ่มใดไม่ได้ เริ่มจะถูกทิ้งไว้โดยลำพังไม่สามารถไปไหน หรือทำอะไรได้เลย
“ในจุดนี้มันยังคงเป็นไปตามปกติของระบบนิเวศตามธรรมชาติ ซึ่งมีสัตว์อายุน้อยสามารถอยู่รอดจนโตได้มาก
พวกมันจะเข้าทำหน้าที่แทนที่สัตว์ที่ตายไปหรือแก่กว่า ในขณะที่ส่วนเกินที่ไม่มีหน้าที่ในสังคมต้องอพยพออกไป”
John B Calhoun
ปัญหาคือหนูเหล่านี้ ไม่สามารถอพยพออกไปไหนได้ ดังนั้นพวกมันจึงใช้เวลาที่มีไปกับการใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยบริเวณใจกลางที่ทดลอง
โดยหนูตัวผู้มักจะมีสภาพราวหมดอาลัยตายอยาก พวกมันไม่คิดแม้แต่จะตอบโต้เวลาถูกโจมตีแต่ในบางครั้งจู่ๆ มันก็ลุกไปโจมตีตัวผู้ตัวอื่น ซึ่งนอนเฉยๆ ให้มันกัดเช่นกัน
ในขณะที่หนูตัวเมียในกลุ่มที่ถูกทิ้งเองก็มักจะไม่ทำอะไรนั่งเลียขนและผสมพันธุ์ไปวันๆ ไม่ต่างกัน
พฤติกรรมประหลาดๆ นี้ไม่ได้ เกิดขึ้นแค่กลับกลุ่มหนูที่ถูกทอดทิ้งเท่านั้น แต่ในฝูงหนูเอง “จ่าฝูง” ก็มักจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวกว่าปกติอย่างไม่น่าเชื่อ มันจะจู่โจมหนูตัวอื่นแบบไม่มีเหตุผล แถมยังมักไล่ข่มขืนหนูทั้งตัวผู้และตัวเมีย
ซึ่งการใช้กำลังสุดโต่งนี้เองก็มักจะทำให้สุดท้ายหนูที่เป็นเหยื่อบาดเจ็บถึงขั้นตายและถูกกินซากหลังจากนั้นอีกที
เท่านั้นยังไม่พอด้วยเหตุผลบางอย่างหนูตัวเมียในการทดลองนี้ยังมักจะไม่ค่อยสนใจลูกของตัวเองนัก หลายครั้งพวกมันจะลืมลูกไปเลย หรือไม่ก็ปล่อยให้ลูกที่เพิ่งเกิดหากินเอง ถึงขนาดที่บางครั้งแม่หนูก็ฆ่าลูกตัวเองทิ้ง
จนในบางฝูงอัตราการตายของลูกหนูพุ่งสูงถึง 90% เลย
นับว่าเป็นที่น่าสนใจทีเดียวที่ต่อให้มีหนูตายมากขนาดนี้โดยรวมแล้วปริมาณหนูในการทดลองก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยู่แม้ว่าจะช้าลงมาก
กระทั่งเมื่อจำนวนหนูเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ตัว (ที่ทดลองออกแบบมาให้ลองรับหนูได้ 3,000 ตัว) จำนวนหนูในการทดลองก็เริ่มลดลงจนได้
เมื่อหนูส่วนใหญ่เลิกที่จะสนใจแม้แต่การผสมพันธุ์และหนีไปอยู่ตามที่สูงของกำแพงที่ทดลอง ในขณะที่ด้านล่างหนูจำนวนมหาศาลได้กลายเป็นดังกลุ่มแก๊งอันธพาลที่มักต่อสู้ฆ่าฟันและกินกันเอง
ไม่นานนักสถานการณ์ในที่ทดลองก็กลายเป็นดั่ง “วันสิ้นโลก” ของเหล่าหนูไปได้ไม่ยาก เมื่ออาณานิคมหนูค่อยๆ สูญพันธุ์ไปจากการต่อสู้เข่นฆ่ากันเองและการปฏิเสธที่จะผสมพันธุ์ ทั้งๆ ที่จนจบการทดลองอาหารก็ไม่ได้หมดไปเลยด้วยซ้ำ
“สำหรับสัตว์เข้าใจง่ายแบบหนูพฤติกรรมที่ซับซ้อนที่สุดของมันมักเกี่ยวข้องกับการหาคู่ การดูแลลูก การป้องกันดินแดน การแบ่งกลุ่มภายในแบบมีลำดับชั้น และการจัดระเบียบทางสังคมระหว่างกลุ่ม
“เมื่อพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่เหล่านี้ไม่สามารถเติบโตเต็มที่ มันจะไม่มีการพัฒนาทางสังคมและไม่มีการแพร่พันธุ์
เช่นเดียวกับในกรณีของการศึกษาของผม
ประชากรทั้งหมดจะแก่และตายไปในที่สุด”
John B Calhoun
นี่นับว่าเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจเลยทีเดียว เพราะสำหรับหลายๆ คนแล้ว มันมีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์คล้ายๆ กันนี้ อาจจะเกิดขึ้นได้แม้แต่กับสังคมมนุษย์ก็ได้ แม้ว่าในกรณีของเราหลายๆ อย่างอาจจะต่างออกไปจากหนูก็ตาม
และที่น่าสนใจอีกข้อคือแม้ในงานวิจัยจะไม่ได้มีการกล่าวถึงนัก แต่ในบรรดาหนูของ Calhoun มันก็ยังมีบางกลุ่มเช่นกันที่ “ไม่ได้กลายเป็นบ้า” แม้ในตอนที่การทดลองจบลง
ดังนั้นมันจึงไม่แน่เหมือนกันว่าหากการทดลองครั้งนี้ยังคงดำเนินต่อไปเราก็อาจจะได้เห็นการกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้งของหนูในยูโทเปีย ก็เป็นไปได้
ดั่งเช่นตามในหนังหรือภาพยนตร์หลังวันสิ้นโลกที่สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้อีกครั้งนั่นเอง
ที่มา historyofyesterday, iflscience และ ncbi