“ถ้าคนรักของเราถูกจับเป็นตัวประกัน แลกกับเงินล้าน คุณจะย่อมจ่ายไหม?
แล้วถ้าคุณเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ประชากรคุณถูกจับเป็นตัวประกัน คุณจะยอมจ่ายด้วยหรือไม่?”
ย้อนกลับไปในปี 2014
นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ฮารุนะ ยูคาวะ เจ๊งจากการทำธุรกิจในญี่ปุ่น และหวังว่าจะสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจทางการทหารได้ในซีเรีย ที่อยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง
อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของเขาไม่เป็นดังคาดคิด และถูกกลุ่ม ISIS ลักพาตัวไปในเดือนสิงหาคม เพื่อหวังเรียกค่าไถ่ หรือแลกกับคนในกลุ่มที่ถูกจับตัว
ถัดมาไม่นานนัก ในเดือนตุลาคม “เคนจิ โกโตะ” นักข่าวฟรีแลนซ์มากประสบการณ์ ซึ่งเคยเข้าออกซีเรียนับไม่ถ้วน และได้พบเจอกับยูคาวะ ในซีเรียมาแล้วก่อนหน้านั้น
เขายืนยันที่จะเดินทางไปซีเรีย เพื่อเจรจาช่วยเพื่อนของเขาคนนี้ที่ถูกจับกุมตัวอยู่ แม้ทางการญีปุ่นจะทั้งโทรศัพท์มาหา หรือกระทั่งส่งคนมาพูดให้เขาล้มเลิกความคิดจะไปซีเรียถึง 3 ครั้งก็ตาม
วันที่ 24 ตุลาคม โกโตะตัดสินใจเดินทางเข้าซีเรียผ่านทางตุรกี เพื่อหวังจะช่วยเหลือยูคาวะให้ได้ แต่นั่นคือครั้งสุดท้ายที่เขาได้รับการยืนยันที่อยู่อย่างเป็นทางการ
วันต่อมา มีข่าวว่าเขาโดนกลุ่ม ISIS จับตัวไป และข่าวคราวของเขาก็เงียบไปอีกหลายเดือน
เคนจิ โกโตะ
การขู่เรียกค่าไถ่
จนกระทั่งวันที่ 20 มกราคม 2015 ทั้งโลกและรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เห็น ยูคาวะ กับ โกโตะ อีกครั้ง แต่มาในรูปแบบของตัวประกันที่ถูกใส่ชุดนักโทษ นั่งลงข้างๆ กับสมาชิกกลุ่ม ISIS
ทางกลุ่มดังกล่าว เรียกเงินจำนวนกว่า 6,000 ล้านบาทจากรัฐบาลญี่ปุ่น และจำเป็นต้องจ่ายภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อแลกกับชีวิตของชาวญี่ปุ่นทั้งสองคนนี้
หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นนำโดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินค่าไถ่ ก็นำมาซึ่งกระแสข่าวดังไปทั่วโลก
เช่นเดียวกันกับบนโลกออนไลน์ของญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวคิดสนับสนุนท่าทีของรัฐบาล ที่จะไม่เจรจากับกลุ่มก่อการร้าย รวมถึงไม่นำเงินมูลค่ามหาศาลไปจ่ายเป็นค่าไถ่
“พวกเขาย่อมต้องรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง และต้องรับผิดชอบการกระทำ”
“ทั้งสองไม่ได้เดินทางไปเพราะรัฐบาลร้องขอหรือส่งไป”
“บางทีผมอาจจะใจดำเกินไป แต่เราก็ไม่ควรจะยอมอ่อนข้อ ทำตามที่กลุ่มก่อการร้ายต้องการ”
และคอมเมนต์อีกมากมาย ที่ต่างถาโถมเข้ามา ในเชิงที่ว่าทั้งสองคนรู้อยู่แล้วว่าสถานการณ์ไม่ปลอดภัย แต่เหตุใดจึงยังยืนยันที่จะไปยังสถานที่นั้นให้ได้
ช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิต..
หลังจากผ่านพ้นกำหนดเส้นตายในวันที่ 23 มกราคม วันถัดมาทางกลุ่ม ISIS ก็เผยแพร่คลิปวิดีโอใหม่ทันที คราวนี้เป็นคลิปที่มีเพียงแค่โกโตะคนเดียวเท่านั้น
เขาถือภาพของยูคาวะ ที่ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอ พร้อมกับอ่านข้อความที่เป็นภาษาอังกฤษ กล่าวโทษการตายของ “เพื่อนร่วมห้องขัง” ว่าเป็นเพราะรัฐบาลญี่ปุ่น
ช่วงเวลาหลังจากนั้น มีหลายข่าวที่ผสมปนเปกันไปหมด
แต่มีข่าวน่าเชื่อถือที่สุดว่า โกโตะจะถูกนำไปแลกเปลี่ยนตัวประกันกับสมาชิกของกลุ่ม ISIS ที่ถูกจับกุมตัวไว้ในประเทศจอร์แดน จากความพยายามวางระเบิดฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อทางการจอร์แดนไม่สามารถส่งข้อมูลหลักฐานให้กลุ่ม ISIS ยืนยันได้ว่าสมาชิกคนดังกล่าวมีชีวิตอยู่ ข้อเสนอการแลกตัวก็จบลง พร้อมกับชีวิตของโกโตะ
คลิปวิดีโอสุดท้ายของเขาถูกเผยแพร่ในวันที่ 31 มกราคม เป็นคลิปการประหารชีวิตของเขา ด้วยการตัดคอด้วยเช่นกัน
กรณีศึกษานี้ ไม่ใช่ครั้งเดียวที่รัฐบาลญี่ปุ่น ปฏิเสธการเจรจากับผู้ก่อการร้าย เพราะย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในปี 2004 เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสัญชาติญี่ปุ่น รวมถึงนักกิจกรรมด้านเสรีภาพ ก็ถูกลักพาตัวในอิรัก 3 ราย
แต่โชคดีที่ครั้งนั้น ทั้ง 3 คนถูกปล่อยตัวออกมาได้อย่างปลอดภัยในสัปดาห์ให้หลัง
ตรงกันข้ามกับเรื่องราวของทั้งยูคาวะ และโกโตะ ซึ่งแสดงให้เห็นทั้งนโยบายของรัฐบาล ที่แข็งกร้าวอย่างยิ่งต่อการก่อการร้าย ลักพาตัว และเรียกค่าไถ่
รวมไปถึงท่าทีของคนในสังคมญี่ปุ่น ที่มีต่อเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกัน..
เรียบเรียง #ประธานเหมียว
ที่มา:
time.com/3680492/japan-isis-hostages/
www.thetimes.co.uk/article/japan-denies-paying-ransom-as-islamists-release-journalist-hh6078gp2