ย้อนกลับไปในช่วงปี 1905 ประเทศรัสเซียกำลังอยู่ในช่วงที่เรียกได้ว่าตกต่ำอย่างถึงที่สุดเลยก็ว่าได้
ในทางตะวันออกพวกเขากำลังแพ้สงครามให้กับญี่ปุ่นทั้งๆ ที่อีกฝ่ายเคยถูกมองว่าเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ในขณะที่ในประเทศเอง การปกครองภายใต้อำนาจของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ก็ล้มเหลวเหลือทน
รัสเซียในเวลานั้นเต็มไปด้วยการทุจริต เศรษฐกิจพังเละเทะ และความพยายามในการหาเงินทำสงครามก็นำมาซึ่งการกดขี่ชนชั้นแรงงานอย่างหนัก พวกเขาต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 6 วัน แถมยังได้รับเงินต่ำเตี้ยติดดิน ทั้งที่พวกเขาก็แทบไม่มีจะกินอยู่แล้ว
ความล้มเหลวในเวลานั้น ไม่แปลกที่จะทำให้เกิดสถานการณ์คุกรุ่น การปฏิวัติพร้อมที่จะเริ่มต้นขึ้นทุกเมื่อ สิ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ก็มีเพียง “ฟางเส้นสุดท้าย” เท่านั้น
ในวันที่ 22 มกราคม 1905 กลุ่มคนงานร่วม 3-5 พันคนซึ่งนำโดยนักบวช “เกออร์กี อะปอลโลโนวิช กาปอน” ได้เดินขบวนไปยังพระราชวังฤดูหนาว ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อเรียกร้อง สภาพการทำงานที่ดีขึ้น และขอให้มีการลดอำนาจบางส่วนของรัฐลง
นี่เป็นเพียงการชุมนุมเรียกร้องอย่างสันติของชนชั้นแรงงานเท่านั้น คำร้องถูกเขียนขึ้นแบบให้เกียรติอย่างมากโดยตัวกาปอนเอง ถึงขนาดที่แม้แต่ทางนักเคลื่อนไหวด้วยกันยังมองว่า การชุมนุมครั้งนี้สงบเกินไป จนไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย
ปัญหาคือแทนที่จะรับคำร้องนี้และจบการเคลื่อนไหวแต่โดยดี นิโคลัสที่ 2 กลับเลือกที่จะออกไปจากพระราชวังก่อนหน้า (บางแหล่งให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการลอบปลงพระชนม์ที่ไม่เกี่ยวกัน)
กลับกันทางภาครัฐได้มีการวางกองกำลังทหารนับหมื่นนายให้รับมือกับผู้ชุมนุมไม่ให้พวกเขาเข้าใกล้พระราชวังไว้แทน
ซึ่งการตอบสนองต่อการชุมนุมโดยสงบในวันนั้นก็ลงเอยด้วยการที่ ทหารเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุม สังหารชนชั้นแรงงานไปร่วม 143-234 ราย มีผู้บาดเจ็บอีก 439-800 ราย และอีกกว่า 6,831 รายถูกเข้าจับกุมตัว
การเคลื่อนไหวเล็กๆ เพียงเพื่อเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้น จบลงด้วยเหตุการณ์ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “วันอาทิตย์เลือด” (Bloody Sunday)
เรื่องราวในวันนั้นสร้างความโกรธแค้นให้กับเหล่าประชาชนของรัสเซียเป็นอย่างมาก ชื่อเสียงที่ไม่ดีอยู่แล้วของ นิโคลัสที่ 2 ตกต่ำจนเขามักถูกเรียกว่า “จอมกระหายเลือด” หรือแม้แต่ “ฆาตกร”
พวกเขาลุกฮือขึ้นประท้วงพร้อมกันทั่วประเทศ เปิดฉากเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซียแห่งปี 1905 ขึ้นอย่างเป็นทางการ และเปลวเพลิงของการประท้วงและความขัดแย้งในครั้งนี้ก็จะดำเนินไปอีกกว่าทศวรรษเลยด้วย
เรียกได้ว่าการรับมือกับการชุมนุมโดยสันติที่ไม่ดีเท่าไหร่นั้น ได้เปลี่ยนแปลงรัสเซียไปตลอดกาลเลยก็ว่าได้
ที่มา history, britannica