ย้อนกลับไปในปี 1963 ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เด็กหนุ่มวัย 16-17 ปี สองคนได้เริ่มทำการทดลองประหลาด ด้วยการ “ไม่นอนให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้” ภายในโครงงานวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน
พวกเขาคือ แรนดี การ์ดเนอร์ และ บรูซ แม็คอลิสเตอร์ สองหนุ่มผู้ที่เดิมทีแล้วแค่อยากจะศึกษาผลกระทบของการอดนอนต่อสมรรถภาพทางปัญญาและสมรรถภาพทางกายของมนุษย์
แต่ใครจะไปคิดว่าการทดลองของพวกเขา จะกลายเป็นอะไรที่โด่งดัง จนได้รับการบันทึกไว้ภายในหนังสือกินเนสส์บุ๊กเลย
แรนดีและบรูซเริ่มต้นการเตรียมการด้วยการทอยเหรียญเพื่อดูว่าใครจะจะต้องเป็นคนทนต่อการไม่นอนเป็นเวลานานในการทดลอง และคนที่แพ้เสี่ยงทายในวันนั้นก็คือ แรนดีนั่นเอง
การทดลองของทั้งสองคนในเวลานั้น ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ เพราะด้วยความที่ยังเด็กพวกเขาจึงไม่คิดที่จะทำวิจัยเป็นรูปเล่มเต็มรูปแบบนัก
อย่างไรก็ตามการเตรียมตัวของพวกเขาก็บังเอิญไปเข้าหูของ วิลเลียม ซี. เดนท์ นักวิจัยด้านการนอนหลับของสแตนฟอร์ด เข้าพอดี ซึ่งทำให้การทดลองที่ดูเหมือนจะหายไปกับความทรงจำได้ง่ายๆ นี้ กลายเป็นอะไรที่มีรายงานรองรับอย่างละเอียดไป
“ตอนนั้นผมอาจเป็นคนเดียวในโลก
ที่ทำการวิจัยเรื่องการนอนหลับเลย”
วิลเลียม ซี. เดนท์
อ้างอิงจากรายงานการวิจัย เพื่อให้แรนดีตื่นตัวไม่หลับไป ทีมงานจะให้เขาเล่นพินบอลและบาสเกตบอล ช่วยกันคอยเฝ้าไม่ให้เขานอนราบ ถึงขนาดที่แม้แต่เวลาเด็กหนุ่มเข้าห้องน้ำ เขาจะต้องพูดผ่านประตูห้องน้ำทุกครั้งไม่ให้งีบหลับในห้องน้ำ
ในช่วงแรกของการทดลองอาการของแรนดีเป็นไปตามที่หลายๆ คนคาดไว้ เขามีปัญหาในการระบุวัตถุด้วยการสัมผัสในวันที่สองของการทดลอง ในขณะที่เริ่มอารมณ์แปรปรวนและพูดไม่ชัดในวันที่สาม
อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่สี่ อาการของแรนดีก็เริ่มที่จะเปลี่ยนไปในทางที่ “แปลก” ขึ้นเรื่อยๆ เขามีอาการเห็นภาพหลอนว่าตัวเองเป็น Paul Lowe นักอเมริกันฟุตบอลผิวดำที่มีชื่อเสียง
ก่อนที่ในต่อมาเขาจะเห็นบ้านของตัวเองกลายเป็นทางเดินในป่า และทุกสิ่งก็มีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ด้วย
“หลังจากวันนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็เหมือนถูกกดลงชักโครก…
มันเหมือนกับว่ามีใครบางคนกำลังเอากระดาษทรายมาถูกสมองของผม ร่างกายของผมยังพอถูไถ แต่จิตใจของผมเหมือนถูกยิงเลย”
แรนดี การ์ดเนอร์เล่าถึง
ประสบการณ์อดนอนในภายหลัง
ในอีกภายวันข้างหน้า คำพูดของแรนดีได้เริ่มช้าและเลือนลางขึ้น ในขณะที่ความจำของเขาแย่ลง เริ่มที่จะพูดอะไรแล้วหยุดไปครึ่งทาง ลืมไปว่ากำลังจะไปไหน และมีความหวาดระแวงสูงขึ้น
ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวกลับยังเล่นปิงปองต่อไปได้ราวกับเป็นความทรงจำที่ฝังในเบื้องลึกของจิตใจไปแล้ว
ในวันสุดท้ายของการทดลองแรนดีแทบจะกลายเป็นตุ๊กตาที่ไม่มีความรู้สึกใดๆ ต้องการการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องเพียงเพื่อจะตอบคำสั้นๆ แถมเขายังเขาพูดโดยโทนเสียงที่เลือนลางสุดทน
และทดสอบความสามารถของเขาก็แทบจะต้องหยุดลงทันทีที่เริ่ม เพราะไม่ว่าจะสั่งอะไรเด็กหนุ่มก็ดูจะลืมมันไปแทบจะในทันที
ผลการทดลองนี้ ทำให้ทีมวิจัยสรุปว่าในช่วงที่อดนอนสมองของแรนดีบางส่วนได้เขาสู่ภาวะชื่อ “Catnapping” ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ประสาทเยื่อหุ้มสมองบางส่วนปิดตัวลง แม้เจ้าของร่างจะยังตื่นอยู่ ส่งผลให้การทำงานของสมองลดลงอย่างที่เห็น
ซึ่งภาวะที่ว่านี้ในภายหลังถูกพบว่าไม่ได้เกิดแค่กับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับหนูภายในการทดลองอดนอนคล้ายๆ กันด้วย
ท้ายที่สุดแล้วแรนดี การ์ดเนอร์ก็ถูกบันทึกว่าใช้ชีวิตโดยที่ไม่ได้นอนเลยยาวนานถึง 11 วัน นานที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกว่ามนุษย์เคยทำมันในเวลานั้น ทำให้นอกจากการทดลองแล้ว เด็กหนุ่มคนนี้ยังได้รับการบันทึกชื่อไว้ในกินเนสส์บุ๊กด้วย
เขาต้องถูกติดตามอาการอย่างใกล้ชิดหลังการทดลองไปอีกหลายวัน และต้องนอนพักยาวๆ เพื่อให้ร่างกายได้พัก ซึ่งในช่วงเวลานั้นเขาถูกรายงานว่ามีการเข้าสู่ช่วงหลับฝัน หรือ REM Sleep บ่อยมากๆ
ถึงอย่างนั้นก็ตามไม่นานนักเด็กหนุ่มก็กลับเป็นปกติได้อีกครั้ง โดยที่ดูจะไม่มีผลข้างเคียงที่อันตรายถึงชีวิต
“สมองบางส่วนปิดตัวลงและฟื้นฟู ในขณะที่บางส่วนของมันตื่น
นี่เป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผลเลย ว่าทำไมสิ่งที่เลวร้ายที่สุด
(ความตาย) ถึงไม่เกิดขึ้นกับคนที่อดนอน”
บรูซ แม็คอลิสเตอร์
กล่าวถึงการทดลองกับ BBC
และแม้หลังจากในวันนั้นจะมีข่าวคนทำลายสถิติการอดนอนของแรนดีอยู่หลายครั้ง แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับการบันทึกชื่อโดยกินเนสส์บุ๊กแต่อย่างไร เนื่องจากกินเนสส์บุ๊กไม่สนับสนุนกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้เข้าร่วมนั่นเอง
ที่มา sciencealert, drshellenberger และ iflscience