เชื่อว่าสำหรับคนที่ติดตามข่าวสารในโลกออนไลน์ หลายๆ คนคงอาจจะได้ยินมาบ้าง ว่าในช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาฝากถึงนักศึกษา วปอ. ถึงกรณีการถกเถียงเรื่องการยืนเคารพเพลงสรรเสริญในโรงหนัง
โดยระบุว่าตนเป็นห่วงคนที่อยากยืนในโรงหนัง แต่ไม่กล้ายืน และได้มีการขอให้ทุกคนกล้าหาญที่จะยืนในโรงหนัง
ดังนั้นมันคงจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่ ที่หลายๆ คนจะเริ่มเกิดข้อสงสัยกันขึ้นมาแล้วว่า
เพลงสรรเสริญในโรงหนังมาตกลงแล้วจากไหนกันแน่!?
และทำไมโลกเรา รวมถึงประเทศไทย ถึงมีวัฒนธรรมการยืนเคารพบทเพลงในโรงภาพยนตร์กัน!?
เราจะพาคุณไปย้อนเรื่องราวในบทความนี้ครับ..
จุดเริ่มต้นของการบรรเลงเพลงสรรเสริญในโรงหนัง
ธรรมเนียมการบรรเลงเพลงสรรเสริญในโรงหนังนั้น เชื่อกันว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศอังกฤษ เพื่อเสริมอุดมการณ์คนให้รักพระเจ้า และสถาบันกษัตริย์
และมีรากฐานมาจากการเปิดเพลง “God Save The Queen/King” หลังจบการแสดง หรือการแข่งอื่นๆ ที่มีให้เห็นอยู่บ้างตั้งแต่ในอดีตอีกที
ในตอนที่ธรรมเนียมการเปิดเพลงนี้เริ่มต้นขึ้นในโรงหนังใหม่ๆ ก่อนการเล่นบทเพลงนี้ ก็มักจะมีการนำเสนอเรื่องราวของทหารอังกฤษในดินแดนต่างประเทศ หรือข่าวสำคัญๆ ในช่วงเวลานั้น
ทำให้การยืนเคารพบทเพลงค่อนข้างได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ความทรงจำของสงครามยังสดใหม่อยู่ แม้บทเพลงที่ว่าจะบรรเลงหลังภาพยนตร์จบไปแล้ว
การเสื่อมความนิยมของเพลงสรรเสริญในโรงหนัง
อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปจน เข้าสู่ช่วงต้นของการครองราชย์โดยราชินีเอลิซาเบธที่ 2 (ราวๆ ปี 1952-1970) การยืนเคารพบทเพลง ดังกล่าวกลับค่อยๆ ได้รับความนิยมน้อยลงไปเรื่อยๆ
แทนที่คนจะยืนเคารพกันอย่างที่หวัง ในหลายๆ ครั้งผู้คนก็ถึงกับจะเดินออกจากโรงหนังไปเลย เนื่องจากการเคารพดังกล่าวไม่ได้ถูกบังคับ แถมข่าวสารเริ่มหาดูได้ง่ายทางโทรทัศน์แล้ว
และที่สำคัญคือคนส่วนใหญ่มักจะกลัวว่าตัวเองจะตกรถหลังดูภาพยนตร์
แน่นอนว่าเมื่อเป็นแบบนี้โรงหนังหลายแห่ง (เช่นในนิวซีแลนด์ที่มีราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เป็นประมุขเหมือนกัน) จึงตัดสินใจที่จะนำบทเพลงมาเปิดก่อนที่หนังจะแสดงแทน
แต่สุดท้ายเมื่อหลายๆ ฝ่ายเริ่มเข้าใจว่าผู้คนไม่ได้สนใจที่จะยืนเคารพเพลงตั้งแต่ต้นเลยด้วยซ้ำ การเปิดเพลง God Save The Queen ในโรงหนังจึงค่อยๆ หายไปในช่วงปี 1970 ทั้งในอังกฤษ และประเทศอื่นๆ ในอาณานิคม
เพลงสรรเสริญในโรงหนังกับประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยเราเพลงสรรเสริญพระบารมีเดิมทีแล้วจะเป็นเพลงประโคมแตร อย่างไรก็ตามใน สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยได้เริ่มดัดแปลงเอาเพลง God Save The King มาใช้
ก่อนที่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์จะมีพระราชดำริให้เปลี่ยนเพลงอีกครั้งแทนเพลงเดิม และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบทเพลงเรื่อยมา
จนกระทั่งกลายเป็นเพลงเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบในปัจจุบันในช่วง 1913 อีกที
ด้วยประวัติที่มีความเกี่ยวข้องกับเพลง God Save The King อยู่บ้าง และช่วงเวลาที่ค่อนข้างคาบเกี่ยวกับความโด่งดังของการเล่นเพลงสรรเสริญในโรงหนังของต่างประเทศ
ทำให้ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประเทศไทยก็จะมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญหลังภาพยนตร์เช่นกัน
แถมที่สำคัญเมื่อเวลาผ่านไป เพลงสรรเสริญของไทยก็พบปัญหาแบบเดียวกับของอังกฤษ คือคนไม่ยอมอยู่รอบทเพลงเริ่มเล่น จนต้องย้ายบทเพลงไปอยู่ก่อนหนังฉายเสียด้วย
และแม้ว่าจนถึงปัจจุบันบทเพลงสรรเสริญพระบารมีของประเทศไทยนั้น จะยังคงเป็นของที่อยู่คู่กับโรงหนังเรื่อยมาอย่างยาวนานก็ตาม
แต่ข้อสรุปที่ว่า อนาคตของกิจกรรมนี้ ควรจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น มันก็คงจะเป็นเรื่องที่เราคงต้องถกเถียงกันไปอีกนานเลย…