การจะบอกว่า เสียงของคนดังคนมีชื่อเสียง สามารถพูดได้ดังกว่าคนปกติธรรมดานั้น ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลย
เพราะเสียงของคนดัง จะได้รับการรับฟังมากกว่า กระจายไปกว้างกว่าคนปกติธรรมดา
และเนื่องจากช่วงนี้กำลังมีกระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้ วันนี้เราจึงอยากพาไปย้อนดูเหตุการณ์ที่เป็นกรณีศึกษาได้ว่า เสียงของคนดังนั้น สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง
– หลายคนน่าจะรู้ดีว่าอังกฤษเป็นประเทศที่คลั่งฟุตบอล ทำให้นักฟุตบอลโด่งดังไม่แพ้คนดังในวงการอื่น
– เช่นเดียวกับ ‘มาร์คัส แรชฟอร์ด’ นักเตะทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทีมชาติอังกฤษ วัย 24 ปี มีผู้ติดตามบนอินสตาแกรมสูงถึง 12 ล้านบัญชี
– และเรื่องราวนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เมื่อสหราชอาณาจักรประกาศ (ยูเค) ว่า กำลังจะยกเลิกนโยบายแจกคูปองอาหารกลางวันฟรีให้กับเด็กนักเรียน (Free School Meals) เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลจากการระบาดของโรคโควิด-19
– BBC ระบุว่า แม้ยูเคจะมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก แต่ก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่ โดยข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า มีเด็กถึง 4.2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในภาวะยากจน ที่พ่อแม่พวกเขาไม่มีเงินพอสำหรับหาอาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย
ซึ่งเป็นตัวเลขที่เท่ากับสัดส่วน 30% ของเด็กทั้งหมดในประเทศ หมายความว่าเด็กเหล่านี้จะไม่มีอาหารกลางวันฟรีกินอีกต่อไป ถ้านโยบายผลักดันสำเร็จ
– เป็นเหตุทำให้ แรชฟอร์ด รู้สึกขุ่นเคืองใจอย่างมาก เพราะเขาก็เติบโตมาในครอบครัวฐานะยากจน แม่ของเขาทำงานหาเช้ากินค่ำเคยทำ 3 อาชีพพร้อมกัน เพื่อเลี้ยงเขาและพี่น้องอีก 4 คนด้วยตัวคนเดียว
– การได้อาหารฟรีจากรัฐบาล มีส่วนทำให้ครอบครัวของเขาพอใช้ชีวิตอยู่ได้แต่ก็ยังลำบาก ทำให้เขารู้ว่าถ้ายกเลิกอาหารกลางวันฟรีไป เหล่าเด็กๆ ที่ทางบ้านยากจนจะต้องเผชิญความลำบากกว่าเดิมมากแค่ไหน
– ปัจจุบัน แรชฟอร์ด ได้เป็นผู้เล่นทีมชุดใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีรายได้เกือบ 8 ล้านบาทต่อสัปดาห์ แต่เขาก็ไม่เคยลืมช่วงที่ตัวเองลำบาก และตอนที่แม่เคยขอร้องให้ทีมปีศาจแดงรับเข้าทีมตอนอายุ 11 ขวบ แม้ว่ากฎของทีมจะรับเฉพาะเด็กที่อายุ 12 ปีขึ้นไป
โดยแรชฟอร์ด ได้กล่าวกับ BBC ว่า”ผมรู้ว่าความหิวโหยเป็นอย่างไร สมัยที่ยังเรียนอยู่ ผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องพึ่งอาหารฟรีของโรงเรียน เพราะแม่ของผมจะไม่กลับบ้านจนกว่าจะ 6 โมงเย็น เพราะฉะนั้น มื้อต่อไปของผมคือเวลา 2 ทุ่ม””
– ทำให้ แรชฟอร์ด ได้เป็นตัวตั้งตัวตีรณรงค์ คัดค้านไม่ให้ยกเลิกคูปองอาหารกลางวันฟรี โดยเขาใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง โพสต์ขอให้คนลงชื่อในแคมเปญ รวมถึงกระจายข่าวผ่านสื่อในช่องทางต่างๆ
ทำให้ต่อมา มีคนมาลงชื่อในแคมเปญทะลุ 1 ล้านคน หลังผ่านไปเพียง 13 วัน
– จากนั้นเดือนมิถุนายน 2020 แรชฟอร์ด ได้เขียนจดหมายไปถึงสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ เรียกร้องให้รัฐบาล และ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ขอร้องให้พิจารณาการตัดสินใจเรื่องการแจกอาหารฟรีใหม่อีกครั้ง
– ทำให้ต่อมา พรรคอนุรักษ์นิยมนำโดย บอริส จอห์นสัน ตัดสินใจกลับมาสนับสนุนนโยบาย Free School Meals อีกครั้ง และทุ่มงบ 400 ล้านปอนด์ ช่วยเหลือเด็กทั่วประเทศไปอีก 12 เดือน
– ไม่เพียงแค่นั้น แคมเปญของแรชฟอร์ดยังทำให้ องค์กรและห้างร้านต่างๆ เข้ามาสนับสนุนเงินการกุศล เป็นค่าอาหารให้กับเด็กยากไร้
– จากการกระทำดังกล่าว ทำให้แรชฟอร์ด ได้รับรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE (Member of the Most Excellent Order of the British Empire) จากเจ้าชาย วิลเลียมส์
– ปัจจุบัน แรชฟอร์ดก็ยังคงใช้ชื่อเสียงของเขา รณรงค์การกุศลผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เด็กยากไร้ในอังกฤษมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
– นี่จึงเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาว่า คนมีชื่อเสียงสามารถใช้เสียงของตัวเอง เปลี่ยนชีวิตคนได้ ซึ่งตัวแรชฟอร์ดก็มีความมุ่งมั่นแรงกล้าถึงขั้นส่งเสียงไปถึงรัฐบาลเลยทีเดียว
ที่มา :
https://www.bbc.com/thai/international-54677097
https://www.mainstand.co.th/2602
https://www.bbc.co.uk/newsround/54862230
https://www.manutd.com/en/news/detail/marcus-rashford-reacts-to-being-awarded-an-mbe